7 กรกฎาคม 2566: ทีเส็บต่อยอดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และสินค้าชุมชน ปักหมุดภาคเหนือตอนบนสู่การเป็นฮับการจัดงานไมซ์ด้านชาและกาแฟนานาชาติ เดินหน้าปั้นเชียงรายและเชียงใหม่สู่ “นครแห่งชาและกาแฟ”
นายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ในภาคเหนือ ทีเส็บมีแนวทางผลักดันให้ภาคเหนือตอนบนเป็น “จุดหมายปลายทางการจัดงานไมซ์ทางด้านชาและกาแฟระดับนานาชาติ” ในเบื้องต้นได้ปักหมุดหมายไว้ที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ผลักดันให้เป็นเมืองแห่งชาและกาแฟระดับโลก โดยอาศัยอัตลักษณ์ของเมืองที่มีจุดเด่นทางภูมิศาสตร์ที่เป็นแหล่งเพาะปลูกชาและกาแฟชั้นเลิศ นอกเหนือจากทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์
ปีนี้ทีเส็บดำเนินงานผ่าน 3 โครงการหลัก คือ โครงการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และสินค้าชุมชน ผ่านการจัดงานแสดงสินค้าและการประชุมด้านชาและกาแฟระดับนานาชาติ หรือ World Tea and Coffee Expo ซึ่งได้จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สองเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โครงการสนับสนุนไมซ์ซิตี้และเมืองในภาคเหนือที่มีศักยภาพในการทำตลาดเมือง (Destination Marketing) โดยการสร้างจุดขายจากอัตลักษณ์ของเมือง (City DNA) และโครงการบูรณาการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ: ไมซ์สร้างสรรค์ รวมพลังชุมชนภาคเหนือ ผ่านการพัฒนาเส้นทางใหม่ๆ รองรับกิจกรรมไมซ์ และผลิตภัณฑ์ไมซ์จากชุมชน
พร้อมกันนี้ ยังให้การสนับสนุนการจัดงานไมซ์ในพื้นที่ภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง โดยมีงานสำคัญอย่าง “การประชุมเครือข่ายชา-กาแฟ ประเทศไทย 2566” จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยความร่วมมือระหว่าง ทีเส็บ สถาบันชาและกาแฟแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และผู้ประกอบการชาและกาแฟ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 กรกฎาคม 2566 คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 350 คน สร้างรายได้ราว 1.5 ล้านบาท งานนี้มีส่วนสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมชา-กาแฟ และผลักดันจังหวัดเชียงรายให้เป็น “นครแห่งชาและกาแฟ” ตามนโยบายของจังหวัด สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2566-2570) ของทีเส็บ ที่มุ่งเน้นการชูอัตลักษณ์เมืองในการยกระดับศักยภาพการรองรับการจัดงานไมซ์ในแต่ละพื้นที่ ขยายผลการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านชาและกาแฟผ่านเวทีการจัดงานไมซ์ ตั้งเป้าให้ภาคเหนือตอนบนเป็นจุดหมายปลายทางไมซ์ด้านชาและกาแฟระดับนานาชาติ ทั้งการจัดประชุมเชิงวิชาการ งานแสดงสินค้า รวมถึงการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลขององค์กรธุรกิจ
กิจกรรมที่น่าสนใจภายใต้โครงการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และสินค้าชุมชน หรือ World Tea and Coffee Expo อาทิ การประชุมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจเพื่อพัฒนาช่องทางการลงทุน หรือ The 4th Tea and Coffee International Symposium ในเดือนสิงหาคม 2566 ณ จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ ยังมีการอบรมพัฒนาศักยภาพและการสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกร และผู้ผลิตนอกพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อต่อยอดความร่วมมือในการผลักดันให้ภาคเหนือตอนบนเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจด้านชาและกาแฟของภูมิภาคอาเซียน โดยพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงชาและกาแฟในภาคเหนือสู่ภาคใต้ กำหนดจัดระหว่างวันที่ 7-10 กันยายน 2566 ณ จังหวัดสงขลา
ทีเส็บ ต่อยอดแคมเปญส่งเสริมตลาดไมซ์ในประเทศ “มิติไมซ์ มิติใหม่ ไมซ์ดีดีที่เมืองไทย” จัดกิจกรรม “ไมซ์ดีดี ที่เจียงฮาย” นำคณะสื่อมวลชนสร้างประสบการณ์วิถีแห่งชาและกาแฟ เฟ้นหาเส้นทางใหม่ๆ รองรับการจัดกิจกรรมไมซ์สร้างสรรค์ อาทิ ชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์บ้านผาฮี้ หนึ่งในแหล่งปลูกกาแฟที่ใหญ่เป็นอันดับต้นในประเทศไทย ต้นแบบวิถีชีวิตพอเพียงแบบดั้งเดิมของชนเผ่าอาข่า ชมสาธิตการชงชาด้วยน้ำที่มีค่า TDS (Total Dissolved Solids) ที่ต่างกัน ซึ่งจะส่งผลต่อรสชาติและสีสันของชา ณ สวรรค์บนดินฟาร์มแอนด์ทีเฮ้าส์ และร่วมกิจกรรมซีเอสอาร์ ณ โรงเล่น เรียนรู้ พิพิธภัณฑ์เล่นได้ สัมผัสกับผืนป่าที่เป็นเสมือนวัสดุชั้นเยี่ยมในการนำมาสร้างของเล่นอัตลักษณ์พื้นเมืองให้กับเด็กๆ ได้เล่นและเรียนรู้ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน