ณ ห้องประชุมชั้น 1 ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “ศอ.บต. สร้างความมั่นคงเกษียณสุขกับ กอช. ในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ระหว่าง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ กองทุนการออมแห่งชาติ ได้รับเกียรติจาก นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี โดยมี พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนส่งเสริมให้ประชาชนแรงงานนอกระบบในภาคใต้ ได้รับสิทธิประโยชน์การเป็นสมาชิก กอช. อย่างทั่วถึง
นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ กล่าวว่า ด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561– 2580) ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและ ความเสมอภาคทางสังคม มีเป้าหมายสำคัญให้ประเทศไทยมีระบบการออมที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะการออมและการลงทุนระยะยาวของประชาชน เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงในการดำรงชีวิตยามชราภาพ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการออมขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปบำนาญ อันเป็นการสร้างความเท่าเทียม และความเป็นธรรมในการดูแลจากภาครัฐ
กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เป็นกองทุนบำนาญ สำหรับแรงงานนอกระบบ จัดตั้งขึ้นในปี 2554 เปิดรับสมัครสมาชิกครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558 ซึ่งประชาชนชาวมุสลิม อายุระหว่าง 15 - 60 ปี ที่ไม่มีสวัสดิการบำนาญ หรือ สวัสดิการใด ๆ จากรัฐ อาทิ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้า ชาวไร่ชาวนา รวมถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษา สามารถสมัครเป็นสมาชิก กอช. ได้ เนื่องจากการออมกับ กอช. ลงทุนไม่ขัดตามหลักชะรีอะฮ์ สามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ด้วยบัตรประจำตัวประชาชนใบเดียว การออมตั้งแต่ 50 – 30,000 บาทต่อปี รัฐบาลจะจ่ายสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง 50% – 100% หรือ สูงสุด 1,800 บาทต่อปี รวมกับผลประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนที่ กอช. นำเงินไปบริหารแล้วจะช่วยให้ประชาชนมีเงินบำนาญรายเดือนกับ กอช. ไว้ใช้ในยามเกษียณ แต่ละคนจะมีเงินบำนาญมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการออมและจำนวนเงิน การออมกับ กอช. สมาชิกสามารถออมได้เมื่อพร้อม พร้อมเมื่อไรออมเมื่อนั้น สิทธิการเป็นสมาชิกยังคงเดิม นับเป็นการเริ่มต้นการส่งเสริมการออมให้ประชาชนคนไทยได้เงินบำนาญอย่างครอบคลุมทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ในความร่วมมือระหว่าง กอช. กับ ศอ.บต. จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการขับเคลื่อนส่งเสริมการออมกับ กอช. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภายใต้ รวมถึงส่งเสริมความรู้ด้านการออมให้เยาวชน นิสิต นักศึกษา ได้มีความรู้ด้านการวางแผนการเงิน การออม การลงทุน การเพิ่มทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล พร้อมถึงการเตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่วัยทำงานที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยังสามารถให้คำแนะนำผู้อื่นได้ด้วย
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) เป็นหน่วยงานอำนวยการระดับพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2524 โดยพัฒนาจากศูนย์ประสานงานการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปต.) ของกรมการปกครองที่มีอยู่เดิม ทำหน้าที่เร่งรัด กำกับ ดูแล ประสานงาน ผนึกกำลังและติดตามประเมินผลการปฏิบัติของหน่วยงานฝ่ายพลเรือนและตำรวจในพื้นที่ ให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นงานด้านสังคมจิตวิทยา การเมือง การปกครอง การพัฒนาประสิทธิภาพข้าราชการ การพัฒนาเศรษฐกิจสังคม การเสริมสร้างความเข้าใจอันดี และความร่วมมือในระดับท้องถิ่นกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการประสานการปฏิบัติงานกับส่วนราชการ
โดยพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “ศอ.บต. สร้างความมั่นคงเกษียณสุขกับ กอช. ในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ระหว่าง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) กับ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จะร่วมกันส่งเสริมให้ประชาชนแรงงานนอกระบบ โดยการสนับสนุนขับเคลื่อนส่งเสริมการออม กอช. ในรูปแบบการจัดงาน Open House กอช. ณ ศอ.บต. โดยมีบัณฑิตอาสา ในพื้นที่เป็นตัวแทน กอช. แนะนำให้ความรู้และส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการรับสมัครสมาชิก พร้อมส่งเงินออมต่อเนื่องกับ กอช. ให้ได้ตามเป้าหมาย ภายในปี 2566 โดยนำร่องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อส่งเสริมความรู้ การวางแผนการเงิน รวมถึงรอบรู้สิทธิประโยชน์ในการเป็นสมาชิก กอช. ผ่านบัณฑิตอาสา จำนวนกว่า 2,000 คน เพื่อเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ของ กอช. ผ่านกลไกเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ ชุมชน สถานศึกษา และกลุ่มศาสนา ในการดำเนินงานเชิงรุกควบคู่ไปกับผู้ว่าราชการจังหวัดและธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยต่อไป
นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐได้ส่งเสริมการออมให้กับประชาชนใน 2 รูปแบบคือ การออมภาคบังคับ ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม มาตรา 33 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นกลุ่มภาคแรงงานในระบบ ในด้านของการออมภาคสมัครใจนั้นกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงาน ที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชน กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ อาทิ นักเรียน นักศึกษา พ่อค้าแม่ค้า ชาวไร่ชาวนา เกษตรกร รับจ้างทั่วไป ที่มีอายุ 15 – 60 ปี ได้เริ่มเก็บออมกับ กอช. ตั้งแต่ 50 บาท สูงสุด 30,000 บาทต่อปี ในเดือนถัดไปรับเงินสมทบเพิ่มจากรัฐ
อายุ 15 – 30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมสะสม สูงสุด 1,800 บาทต่อปี
อายุ >30 – 50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมสะสม สูงสุด 1,800 บาทต่อปี
อายุ >50 – 60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมสะสม สูงสุด 1,800 บาทต่อปี
สำหรับช่องทางอำนวยความสะดวกในการให้บริการสมาชิก ทั้งการสมัคร ส่งเงินออมต่อเนื่อง และการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ กอช. ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ครอบคลุมทั่วประเทศ อาทิ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สำนักงานคลังจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ทุกสาขา สถาบันการเงินชุมชน ตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน ที่ทำการไปรษณีย์ไทย เซเว่น-อีเลฟเว่น เทสโก้โลตัส และตู้บุญเติม อีกทั้ง กอช. ได้มีการออมที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีให้สมาชิกให้ประชาชนเข้าถึงการออมง่ายยิ่งขึ้น ด้วยความสะดวกสบายได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านสมาร์ทโฟน อาทิ แอปพลิเคชัน กอช., ไลน์ กอช., แอปเป๋าตัง, แอป K PLUS, แอป Krungthai NEXT และ แอป Mymo GSB