สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และ ลำพูน ติดตามการดำเนินโครงการของผู้ประกอบการ SME ที่ขึ้นทะเบียนใช้บริการระบบ BDS ภายใต้ “โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ปีงบประมาณ 2566” ใต้แคมเปญ “SME ปังตังได้คืน ก้าวสู่ปีที่ 2” พร้อมเยี่ยมชมสถานประกอบการของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประกวด “รางวัลสุดยอด SME แห่งชาติ ปี 2566” หรือ “SME National Awards 2023”รางวัลที่ช่วยประเมินศักยภาพธุรกิจ ส่งเสริมและเพื่อผลักดัน SME ไทยให้ก้าวสู่เวทีระดับนานาชาติ
คณะผู้บริหารติดตามการดำเนินโครงการฯ นำโดย นายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการสำนักงาน ร่วมด้วย นางสาวนิธิวดี สมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประสานเครือข่ายผู้ให้บริการ SMEs และส่งเสริมนโยบายภาครัฐ และนางสาวจันธิดา โลหิตศิริ หัวหน้าส่วนประสานเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ และเจ้าหน้าที่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
นายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการสำนักงานฯ เปิดเผยว่า “สสว. เป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทหน้าที่ และภารกิจในการให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการ MSME ของประเทศ การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อมาติดตามการดำเนินงานของผู้ประกอบการที่สมัครเข้าใช้บริการระบบ BDS พร้อมเยี่ยมชมสถานประกอบการของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประกวด “รางวัลสุดยอด SME แห่งชาติ” หรือ “SME National Awards” โดยจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 15 แล้ว ซึ่งเวทีการประกวดรางวัลสุดยอด SME แห่งชาติ นั้น สสว.ได้ร่วมมือกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ด้วยการนำแนวทางของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award - TQA) มาปรับใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาตัดสินธุรกิจที่เข้าร่วมประกวด เพื่อมอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการ SME ที่มีประสิทธิภาพ และความสามารถในการบริหารจัดการอย่างมีมาตรฐาน และช่วยผลักดันให้ SME ไทยให้ก้าวสู่เวทีระดับนานาชาติ
การเดินทางลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการฯ ผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ เริ่มที่ บริษัท ดีพลอย เทคโนโลยี จำกัด ผู้ให้บริการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับองค์กรชั้นนำ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการทำ International Organization Standardization (ISO) เพื่อวัดคุณภาพองค์กรให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ทั้งนี้ Deeploy Technology ได้เข้าร่วมประชุมและนำเสนอแนวทางในการพัฒนาองค์กร เพื่อตอกย้ำถึงการมุ่งเน้นคุณภาพ และมาตรฐานสากล ที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์องค์กรอย่างยั่งยืนและก้าวหน้าไปในโลกเทคโนโลยี จากนั้น ติดตามการดำเนินโครงการฯ ที่บริษัท ฟังกี้กริลล์ จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ หนังปลาแซลมอลทอดกรอบ รสหม่าล่า ตราฟังกี้ (Crispy salmon skin mala flavor brand funky) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมสูง โดยวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อชั้นนำทั่วประเทศ
ในช่วงบ่าย คณะผู้บริหารได้เดินทางต่อไปยังจังหวัดลำพูน เพื่อติดตามการดำเนินโครงการฯ ที่บริษัท สยามทูลส์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้ผลิตเครื่องจักรและนวัตกรรมอุปกรณ์ต่างๆ ล่าสุดได้คิดค้น “ชุดอุปกรณ์สอนการช่วยฟื้นคืนชีพ (Life-Saving Learning Kits)” ชื่อ “ALIVE project: One training saves lives”ซึ่งเป็นนวัตกรรมด้านสื่อการสอน การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน โดยความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคอุตสาหกรรมเอกชน มีงานวิจัยรองรับ นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยสามารถผลิตชุดอุปกรณ์การสอนนี้ได้สมบูรณ์แบบ และครบวงจร ประกอบไปด้วย 1.หุ่นฝึกการกดหน้าอก (CPR manikin) 2. เครื่องสอนการใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AED trainer) 3.แอปพลิเคชั่นควบคุมการฝึกปฏิบัติการช่วยเหลือให้เป็นไปตามแนวทางมาตรฐานสากล
“ทั้งนี้สสว. มุ่งเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการ SME แบบครบวงจร ดังเช่น การลงพื้นที่ในครั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าระบบการบริการ BDS นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยกศักยภาพและมาตรฐานให้ SME ช่วยติดอาวุธให้การดำเนินงานของธุรกิจ ส่งเสริมความพร้อม สร้างความเข้าใจและวางพื้นฐานการดำเนินงานที่ตรงตามความต้องการและลักษณะของธุรกิจแต่ละประเภท นอกจากนี้ สสว. ยังได้สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพ หรือมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ได้เข้าสู่การประกวดรางวัลสุดยอด SME แห่งชาติ หรือ “SME National Awards” เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างมาตรฐาน/คุณภาพ กระตุ้นให้ผู้ประกอบการ SME เกิดแรงจูงใจ เกิดการปรับปรุงพัฒนาธุรกิจให้มีมาตรฐานมากขึ้นสู่ระดับสากล นับเป็นเสมือนเครื่องหมายยืนยันความสำเร็จ ในการยกระดับ พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถต่อยอด เสริมสร้างโอกาสทางการตลาด ส่งเสริมและผลักดัน SME ไทยให้ก้าวสู่เวทีระดับนานาชาติต่อไป” รอง ผอ.สสว. ทิ้งท้าย