อธิบดีกรมโยธาฯ เผยผู้แทนกรมโยธาฯ ร่วมกล่าวถ้อยแถลง ความก้าวหน้า SDGs เป้าหมายที่ 11 ในการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council: ECOSOC) ประจำปี 2566
อธิบดีกรมโยธาฯ เผยผู้แทนกรมโยธาฯ ร่วมกล่าวถ้อยแถลง ความก้าวหน้า SDGs เป้าหมายที่ 11 ในการประชุม “เวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council: ECOSOC) ประจำปี 2566 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
วันนี้ (18 ก.ค. 66) นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เผยว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย โดยนายสุเมธ มีนาภา รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้เข้าร่วมประชุมและกล่าวถ้อยแถลงรายงานความคืบหน้าของประเทศไทยในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 11 “Sustainable Cities and Communities ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน” ในการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council: ECOSOC) ประจำปี 2566 (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF 2023) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ซึ่งต่างล้วนเกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยแทบทั้งสิ้น ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดี และผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) ด้วยแนวคิด Change for good สมดังเจตจำนงและความประสงค์ของพวกเราทุกคนทุกประการ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน เพื่อคนไทยกว่า 69 ล้านคน ร่วมกับสหประชาชาติ “โลกนี้เพื่อเรา”” โดยมี คุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย คุณอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ร่วมลงนาม ด้วยเพราะกระทรวงมหาดไทย คือ ผู้นำการขับเคลื่อนการบริหารราชการในระดับพื้นที่ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเสมือนนายกรัฐมนตรีของจังหวัด มีนายอำเภอเป็นเสมือนนายกรัฐมนตรีของอำเภอ และมีหัวหน้าส่วนราชการของทุกกระทรวง กรม เป็นเสมือนรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ของพื้นที่ โดยทุกหน่วยงานต่างมีแผนงาน โครงการ กิจกรรม ที่สอดคล้องเชื่อมโยงกับ SDGs ของสหประชาชาติ โดยในส่วนของกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้นำความรู้การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนมาบูรณาการในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพี่อให้สอดคล้องตามเป้าหมาย SDGs ข้อที่ 11 “Sustainable Cities and Communities ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน”
"การประชุมดังกล่าวมีหัวข้อหลักในการประชุม คือ “Accelerating the recovery from the coronavirus disease (COVID-19) and the full implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development at all levels”และมีการหารือเชิงลึกเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities) โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้กล่าวถ้อยแถลงเพื่อรายงานความคืบหน้าของประเทศไทยในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 11 โดยมีสาระสำคัญ คือ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีส่วนร่วมในการผนวกการปฏิบัติงานตามเป้าหมาย SDGs ที่ 11 ร่วมกับการปฏิบัติงาน โดยการรวมหลักการพื้นฐานของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เข้ากับการวางผังเมือง ซึ่งที่ผ่านมากรมได้นำความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนมาบูรณาการการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย เป้าหมายย่อยที่ 11.A กรมได้สนับสนุนการวางและจัดทำผังระดับนโยบายประเทศและภาค ที่เป็นการบูรณาการด้านการใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ (Spatial Plan) ที่สามารถเชื่อมโยงการพัฒนาระหว่างพื้นที่เมือง พื้นที่เมืองกึ่งชนบท (Peri-Urban) และพื้นที่ชนบท ให้ได้รับการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายย่อยที่ 11.3 ภายในปี 2030 กรมมีการส่งเสริมและสนับสนุนแนวทางการศึกษา วิเคราะห์ปรากฏการณ์ความเป็นเมือง (Urbanization) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนำความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดย พรบ.การผังเมือง ปี พ.ศ. 2562 ได้ให้การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผน/ผังการตั้งถิ่นฐานของเมืองและชุมชนอย่างยั่งยืน เป้าหมายย่อยที่ 11.7 เป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี ที่ทางกรมมีการดำเนินงานด้านการออกแบบพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวเพื่อประชาชนที่สามารถเข้าถึงได้อย่างปลอดภัยสำหรับทุกคน และในปัจจุบันกรมยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการออกแบบที่เพิ่มกลุ่มผู้ใช้งาน โดยเฉพาะงานออกแบบพื้นที่ที่เกี่ยวกับผู้หญิง เด็ก คนชรา และผู้พิการ (Universal Design) เป็นสำคัญ" นายพงศ์รัตน์ฯ กล่าว
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวในช่วงท้ายว่า แม้ว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ต้องดูแลรับผิดชอบการขับเคลื่อนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 11 เป็นหลัก แต่หัวใจของการขับเคลื่อน SDGs ให้เดินหน้าได้อย่างราบรื่น คือ การรวมพลังทำงานเป็นทีมเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณาการการทำงานกับภาคีเครือข่าย ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ตาม SDGs เป้าหมายที่ 17 "Partnership" เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ตามเป้าหมายของ UN เพราะคนมหาดไทย คือ โซ่ข้อกลางการประสานความร่วมมือระหว่างส่วนราชการกระทรวงมหาดไทยกับองค์กรต่าง ๆ นอกจากนี้ ปัจจัยในการดำเนินงานไปสู่ความสำเร็จ สิ่งที่สำคัญ คือ “ผู้นำ” ต้องเป็นผู้ปลุกระดม สร้าง Passion ให้กับทุกหน่วยงานในทุกระดับ เพื่อให้เกิดการ Change for Good ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืนในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำองค์กรในระดับพื้นที่เริ่มทำเป็นตัวอย่าง และเมื่อผู้นำในระดับพื้นที่ทำ ทีมงานก็จะร่วมเดิน พี่น้องประชาชนก็จะร่วมมือและร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน ก่อเกิดการรวมกลุ่มเป็นภาคีในระดับพื้นที่ นำไปสู่การพัฒนาชุมชนโดยพลังของชุมชน ให้เกิดการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง