ม.หอการค้าไทย ชี้ส่งออกไทยครึ่งหลังปี 66 เสี่ยงหดตัวหนัก ห่วงตั้งรัฐบาลยืดเยื้อเกิน ส.ค.จะหดตัว 2.5% ขาดแรงผลักดันโปรโมทตลาด ชี้สารพัดปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ภาวะแล้งจากเอลนีโญ เฟดขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินผันผวน ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ต้นทุนการผลิตสูง
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้วิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยปี 2566 และครึ่งหลังปี 2566 ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยที่ต้องติดแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
1.กรณีจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ตามไทม์ไลน์ภายในเดือน ส.ค.2566 คาดว่ามูลค่าการส่งออกไทยทั้งปี 2566 จะมีมูลค่าเท่ากับ283,738 ล้านดอลลาร์ หรือหดตัว 1.2 % สำหรับครึ่งหลังของปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่าเท่ากับ 142,244 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัว 3.1%
2.กรณีที่ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายในเดือน ส.ค.2566 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดโลกในปี 2566 จะมีมูลค่าเท่ากับ 279,891 ล้านดอลลาร์ หรือหดตัว 2.5% สำหรับครึ่งหลังของปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่าเท่ากับ 138,398 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัว 0.3%
สหรัฐ , จีน-ไต้หวัน และข้อพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งสร้างความผันผวนและไม่แน่นอนให้เศรษฐกิจโลกที่นำไปสู่การแบ่งขั้ว (Decoupling) ของห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงระบบชำระเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศหรือการลดการพึ่งพิงเงินสกุลดอลลาร์ (De-Dollarization) ซึ่งไทยจะต้องเตรียมตัวในการค้าขายกับประเทศที่ไม่ใช่พันธมิตรของสหรัฐ
ส.อ.ท.ห่วงดีมานด์ชะลอ
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โดยปกติแล้วแนวโน้มการส่งออกช่วงครึ่งปีหลังจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปีเป็นผลตามฤดูกาล โดยในปี 2566 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ว่าจะหดตัว 2-0% เนื่องจากดีมานต์จากประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอตัว รวมทั้งตลาดส่งออกหลักทั้งสหรัฐ อินเดีย ลาตินอเมริกา อาเซียน รวมถึงจีนที่เศรษฐกิจกลับไม่โตอย่างที่คาดการณ์ไว้ ขณะเดียวกันจีนก็เป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดอาเซียน ทำให้ไทยมีสัดส่วนในการส่งออกในอาเซียนติดลบ 7% โดยเฉพาะสินค้าสำเร็จรูป สินค้าเกษตร และอาหารสำเร็จรูป ขณะนี้มีเพียงรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยยังส่งออกได้ดี
ทั้งนี้ การโหวตเลือกนากยกรัฐมนตรีที่ยืดเยื้อและทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าไปกว่าไทม์ไลน์ในเดือนส.ค. จะไม่ได้กระทบแค่ภาคการส่งออกเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย เนื่องจากรัฐบาลรักษาการณ์ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณของปี 2567 ได้ตามที่วางแผนไว้ ซึ่งการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นกลไกหนึ่งที่เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะที่เครื่องยนต์อื่นๆ ยังชะลอตัว ทั้งจากภาคการลงทุนที่ชะลอการตัดสินใจรอดูผลการเลือกตั้ง และการใช้จ่ายในประเทศที่ไม่โตเรื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือน