นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงฤดูฝนและยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง กนอ.ได้ตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมในการป้องกันน้ำท่วมและมีการเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร
กนอ.ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กรมชลประทาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) องค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ประชุมชี้แจง และเฝ้าสังเกตการซ้อมแผนป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร และนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทย และต่างชาติ รวมถึงชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยมีผู้ประกอบการให้ความสนใจและซ้อมแผนจำนวนมาก
สำหรับแผนป้องกันน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่ง กนอ.ได้เตรียมมาตรการรับมือไว้แล้ว โดยกำหนดดังนี้ 1.นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน มีพื้นที่ 1,962 ไร่ มีผู้ประกอบการ 93 ราย โดยมีระบบป้องกัน น้ำท่วมในลักษณะก่อสร้างเขื่อนดินบดอัดแน่น โดยสันเขื่อนเป็นผนังคอนกรีตรูปตัวยู (RC Flood Wall) โดยระดับ คันดินมีความสูงถึง 6 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (MSL) มีความยาวเขื่อนประมาณ 10 กิโลเมตร
2.นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า มีพื้นที่ 2,500ไร่ มีผู้ประกอบการ 125 ราย มีการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมในลักษณะทำเขื่อนคันดินปดอัดแน่น เสริมด้วยวัสดุป้องกันทนกัดเซาะ (Grocell Stones Gro Textile) โดยมีระดับความสูงประมาณ 5.4 เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง (MSL) โดยรอบพื้นที่โครงการมีสันกว้าง 3.5 เมตรและฐานกว้าง 22 เมตร มีความยาวของเขื่อน ประมาณ 11 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม กนอ.ได้จัดทีมตรวจสอบสภาพเขื่อนในภาพรวมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พร้อมใช้งานได้ตลอด
3.นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร มีพื้นที่ 2,050 ไร่ มีผู้ประกอบการ 52 ราย ได้เตรียมความพร้อม การขุดลอกคลองระบายน้ำฝน และรางระบายน้ำฝนภายในนิคมฯมีการติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์น้ำ และสื่อสารแจ้งผู้ประกอบการให้รับทราบทุกวัน มีการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม เป็นเขื่อนคันดินบดอัดและติดตั้งวัสดุ เสริม Free Board ขนาด 20 ซม.ที่มีระดับความสูง ประมาณ 8.2 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง (MSL) โดยมีความยาวของเขื่อน ประมาณ 7.2 กิโลเมตร
นอกจากนี้ กนอ. ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เตรียมความพร้อม และตรวจสอบทั้งในด้านเทคนิคและกายภาพ อันได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยได้มีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของคันป้องกันน้ำท่วม และประสิทธิภาพของระบบระบายน้ำอย่างสม่ำเสมอ และเตรียมความพร้อมในส่วนอุปกรณ์ให้เพียงพอ และพร้อมใช้ตลอดเวลา เช่น ความพร้อมของสถานีสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำ ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชม. รวมทั้งความพร้อมของเขื่อนเคลื่อนที่ติดตั้งเร็วของ กนอ. และที่สำคัญในทุกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมีการตรวจสอบปรับปรุงซ่อมแซมคันดินรอบนิคมฯให้อยู่ในสภาพที่ดี และมีความมั่นคงแข็งแรงอยู่เสมอ