นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2566 และราชการให้เป็นวันหยุดยาวต่อเนื่องถึงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา รวม 6 วัน (ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม 2566 นั้น มีผู้ใช้บริการระบบราง รวมเป็น 1,687,961 คน-เที่ยว สูงที่สุด (New High) ตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (Covid-19) ประกอบด้วย รถไฟระหว่างเมือง จำนวน 88,780 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 37,344 คน-เที่ยว และผู้โดยสารเชิงสังคม 51,436 คน-เที่ยว) และรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมมหานครและปริมณฑล จำนวน1,599,181 คน-เที่ยว ประกอบด้วย
1.รถไฟฟ้า Airport Rail Link จำนวน 75,956 คน-เที่ยว (นิวไฮ)
2.รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง จำนวน 28,274 คน-เที่ยว (รวมจำนวนผู้โดยสารรถไฟทางไกลมาต่อสายสีแดงฟรี จำนวน 159 คน-เที่ยว)
3.รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) จำนวน 480,798 คน-เที่ยว (นิวไฮ)
4.รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) จำนวน 73,951 คน-เที่ยว (นิวไฮ)
5.รถไฟฟ้าสายสีเขียว จำนวน 891,172 คน-เที่ยว
6.รถไฟฟ้าสายสีทอง จำนวน 7,923 คน-เที่ยว
7.รถไฟฟ้าสายสีเหลือง จำนวน 41,107 คน-เที่ยว
โดยจำนวนผู้ใช้บริการระบบรางสูงสุดก่อนหน้านี้ไม่นาน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 จำนวน1,663,008 คน-เที่ยว แต่เมื่อวานนี้ มีผู้ใช้บริการระบบรางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล สายฉลองรัชธรรม และสาย Airport Rail Link มากสุดตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด จึงเป็นการทำสถิติใหม่อีกครั้ง
สำหรับด้านความปลอดภัย วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 มีเหตุอันตรายต่อการเดินรถ 2 ครั้ง
1) เวลา 00.46 น. ขบวนรถสินค้าที่ 554 (ชุมทางบัวใหญ่ -มาบตาพุด) ชนคนเพศหญิงบาดเจ็บสาหัส 1 ราย บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 155/8-9 ระหว่างสถานีพัทยา -สถานีบ้านห้วยขวาง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มูลนิธิสว่างบริบูรณ์นำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา
2) เมื่อเวลา 18.24 น. ขบวนรถเร็วที่ 170 (ยะลา-กรุงเทพอภิวัฒน์) ชนคนเดินเท้าเสียชีวิตเพศหญิง 1 ราย บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 815/17 ระหว่างสถานีบ้านขอนหาด -สถานีบ้านนางหลง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช
ส่วนด้านระบบรถไฟฟ้า ให้บริการตามปกติ และจัดขบวนรถไฟฟ้าวิ่งเสริมอีก 32 เที่ยววิ่ง (สาย Airport Rail Link 8 เที่ยววิ่ง สายเฉลิมรัชมงคล 19 เที่ยววิ่ง สายฉลองรัชธรรม 5 เที่ยววิ่ง) โดยไม่มีเหตุรถไฟฟ้าขัดข้องแต่อย่างใด ทั้งนี้ในช่วงวันหยุดต่อเนื่อง (28 กรกฎาคม 2566 ถึง 2 สิงหาคม 2566) กรมการขนส่งทางรางได้ประสานหน่วยงานผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าเพิ่มความถี่ในชั่งโมงเร่งด่วน และประสาน รฟท. เพิ่มตู้พ่วงไปกับขบวนรถที่มีผู้ใช้บริการโดยสารจหนาแน่น เพื่อให้สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างเพียงพอ พร้อมกำชับเพิ่มความเข้มข้นในมาตรการด้านความปลอดภัยการเดินรถ การขอความร่วมมือจากจังหวัดต่างๆ ที่มีทางรถไฟผ่านหน่วยงานในพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้จัดเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครมาเฝ้าระวังบริเวณจุดตัดทางรถไฟ เพื่อลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ
นอกจากนี้ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางรางพร้อมเจ้าหน้าที่ ขร. ลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกการเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชนที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยกำชับให้ รฟท. เตรียมความพร้อมต่างๆ ภายในสถานี เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก้าอี้ระหว่างรอขบวนรถไฟให้ผู้โดยสารหรือคนที่มาส่งให้เพียงพอ การทำความสะอาดพื้นที่ให้พร้อมและน่าใช้บริการอยู่เสมอทั้งภายในสถานีและภายในขบวนรถ เตรียมความพร้อมของห้องพยาบาล กรณีมีผู้โดยสารไม่สบายหรือบาดเจ็บ เพิ่มเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก เฝ้าระวังจุดเสี่ยงและจุดตัดทางรถไฟอย่างเข้มข้น และเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่มีความรอบคอบในการตรวจตั๋วโดยสารและผู้โดยสารก่อนขึ้นชั้นชานชาลา รวมทั้งการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ของพนักงานขับรถและพนักงานบริการบนรถไฟ เพื่อให้การเดินทางด้วยระบบรางของประชาชนถึงที่หมายอย่างปลอดภัยและสะดวกสบาย หากประชาชนมีข้อมูลสอบถามหรือมีข้อร้องเรียนสามารถติดต่อได้ที่ Call center 1690 สายด่วน รฟท.