บอร์ด กอน.เร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาอ้อย ย้ำภาครัฐพร้อมหาแนวทางสนับสนุนช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ดูแลพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโดยไม่มีการเผาอ้อย
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้มีการประชุมเพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่างๆที่จะช่วยดูแลระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ และเร่งเดินหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาอ้อย ที่ประชุมให้การพิจารณาวาระสำคัญอย่างแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ดูแลพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโดยไม่มีการเผาอ้อย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 โดยผู้แทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยขอนำแนวทางและมาตรการที่ สอน.ได้เสนอกลับไปหารือก่อนที่จะนำข้อสรุปเสนอในที่ประชุม กอน.ต่อไป ซึ่งภาครัฐพร้อมหาแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยมีส่วนช่วยในการดูแลสุขภาพของประชาชน ชุมชนใกล้เคียง และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
โดยจากสถิติที่ผ่านมา ฤดูการผลิตปี 2563/2564 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 17.61 ล้านตัน คิดเป็น 26.42% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด 66.66 ล้านตัน ฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 25.12 ล้านตัน คิดเป็น 27.28% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด 92.07 ล้านตัน และฤดูการผลิตปี 2565/2566 พบว่า มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผาสูงถึง 30.78 ล้านตัน คิดเป็น 32.78% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด 93.89 ล้านตัน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าที่ระบุในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง พ.ศ.2562-2567 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งมีแนวทางการควบคุมและลดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง/ภาคการเกษตรในการกำหนดมาตรการทางกฎหมาย โดยการออกระเบียบกำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 20% ต่อวัน ภายในปี 2564 และให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายในปี 2566 ซึ่งการเผาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2565/2566 คิดเป็นพื้นที่ที่เกิดการลักลอบเผาประมาณ 3.08 ล้านไร่
ทั้งนี้จากตัวเลขการลักลอบเผาอ้อย 3 ปีฤดูการผลิตที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการในการจัดการกับปัญหาการลักลอบเผาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอรับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดให้กับชาวไร่อ้อยที่ผ่านมา ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการจัดการกับปัญหาการลักลอบเผาอ้อยที่เกิดขึ้น และไม่เกิดความคุ้มค่าต่อการดำเนินการดังกล่าว อีกทั้งกระบวนการป้องปรามของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอาจยังไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงได้มีการทบทวนมาตรการและกลไกการบูรณาการที่อาจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว และสามารถส่งเสริมเกษตรกรให้มีการตัดอ้อยสดซึ่งถือเป็นวัตถุดิบที่ถูกกฎหมายอย่างแท้จริง และไม่เป็นภาระงบประมาณ
นายภานุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังรับทราบถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เกิดจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ทั้งนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเติบโตอย่างยั่งยืน มีวัตถุดิบจากอ้อยสดคุณภาพดี และผ่านกระบวนการผลิตที่ได้รับมาตรฐาน ถูกกฎหมาย และไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสิ่งแวดล้อม