“TIPMSE” จัดเวทีสัมมนา "ผู้ประกอบการแบรนด์สินค้ากับการเตรียมตัวสู่ EPR" ร่วมเจาะลึกข้อกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ. การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน หรือ กฎหมาย EPR เพื่อเตรียมปรับตัว และพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน
สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดสัมมนา"ผู้ประกอบการแบรนด์สินค้ากับการเตรียมตัวสู่
EPR "ภายในงาน Propak Asia 2023” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเตรียมความพร้อมของผู้ผลิต ผู้ประกอบการในการนำหลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) มาสู่การปฏิบัติทั้งภาคสมัครใจและรองรับกฎหมาย EPR ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2570
นายธงชัย ศิริธร รองประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) กล่าวว่า EPR คือ หลักการในการขยายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตให้ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วให้ถูกต้องตามหลักการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ เวทีครั้งนี้จึงเป็นเวทีสำคัญที่ภาครัฐโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดรับฟังมุมมองของภาคเอกชนต่อเนื้อหาร่างกฎหมาย พร้อมทำความเข้าใจเพื่อเตรียมรับมือล่วงหน้า ขณะเดียวกันยังได้มีการรายงานความคืบหน้าในส่วนของภาคเอกชนจากโครงการต่าง ๆ
“คาดว่ากฎหมาย EPR ทจะมีการบังคับใช้ราวปี 2570 ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ภาคเอกชนต้องเร่งปรับตัวและเตรียมความพร้อม ดังนั้นต้องมีความเข้าใจถึงข้อกฎหมายและรายละเอียดที่ต้องดำเนินการเพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย”นายธงชัยกล่าว
นางสาวพรรรัตน์ เพชรภักดี รองผู้อำนวยการใหญ่และรักษาการผู้อำนวยการ TIPMSE กล่าวว่า EPR เป็นเครื่องมือเชิงนโยบาย ที่มุ่งส่งเสริมการจัดระบบเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเพื่อนำไปรีไซเคิลสอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยที่ผ่านมา TIPMSE ซึ่งเป็นองค์กรหลักของภาคเอกชนได้เริ่มนำร่องทำโครงการ EPR ภาคสมัครใจภายใต้โครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืนขึ้นในจังหวัดชลบุรี 3 พื้นที่ ได้แก่ เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึง และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง เนื่องจากมีความหลากหลายของพื้นที่ทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีศูนย์รวบรวมบรรจุภัณฑ์ และมีความเป็นทั้งเมืองและชนบท โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในห่วงโซ่คุณค่าได้มีส่วนร่วม ทั้งภาคชุมชน ซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่า ผู้จัดเก็บรวบรวมรายกลางและรายใหญ่ เพื่อพัฒนาต้นแบบ EPR ของประเทศไทย รวมถึงถอดบทเรียน และนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประกอบในการจัดทำร่างกฎหมายรวมถึงการขยายผลไปใช้ในพื้นที่อื่นต่อไป
ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ (CEWT) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ร่างกฎหมายต่อการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนตามหลักการ EPR หรือที่จะมีการเรียกว่า ร่าง พ.ร.บ.จัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ฉบับนี้ จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2568 และจะนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายของรัฐสภา ซึ่งตามกำหนดการช่วงเวลาที่วางไว้ น่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณปี 2570
“การทำกฎหมายมองว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดี ของการเกิดธุรกิจ BCG มากขึ้น ซึ่งไทยมีความพร้อมในระดับหนึ่งแล้ว ทั้งภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และวงจรของการรับคืนบรรจุภัณฑ์”ผศ.ดร.ปเนต กล่าว
นายเลิศฤทธิ์ เลิศวัฒนวัลลี บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด กล่าวว่า “บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เรามีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนการจัดการขยะและบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ดังนั้นการนำหลักการ EPR มาใช้ในภาคบังคับ นับเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันทั้ง ซัพพลายเออร์ (Supplier) และ เจ้าของแบรนด์(Brand Owner) ซึ่งแบรนด์ต่างๆ พร้อมให้การสนับสนุน ในส่วนของผู้บริโภค จะต้องมีการให้ความรู้และเข้าใจในเรื่องรีไซเคิลมากขึ้น ดังนั้นร่าง พ.ร.บ.จัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน จะสามารถเดินหน้าได้ แต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญว่า สามารถทำได้จริงหรือไม่”
นายอรชัย อัจฉรานุกูล ผู้บริหาร บริษัท อายิโน๊ะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของไทย บริษัทขนาดใหญ่ มีความพร้อมอยู่แล้ว ที่จะมีส่วนร่วม เพราะขณะนี้ยังมีเวลาปรับตัวและการเตรียมตัว ก่อนกฎหมายฉบับนี้จะประกาศใช้ในอนาคต อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) อาจได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งเห็นว่าภาครัฐ ควรให้การสนับสนุนเพื่อให้มีการเตรียมความพร้อมก่อน ดังนั้นมองว่ากฎหมายฉบับนี้ จะเป็นโอกาส ทั้งในด้านประกอบธุรกิจและเกิดการสร้างอาชีพใหม่ๆให้เกิดขึ้น”
อย่างไรก็ตาม นอกจากเวทีนี้ TIPMSE ยังร่วมกับภาครัฐผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยเป้าหมายสำคัญ คือ การทำให้ EPR เป็นเครื่องมือในการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่ภาคเอกชนต้องมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายและทำให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืนต่อไปได้ สนใจข้อมูลเพิ่มเติมหรือร่วมขับเคลื่อนไปกับ TIPMSE ติดต่อ 02-3451293