ที่ โรงแรมฮาร์ดร็อค พัทยา กรมเจ้าท่าได้จัดให้มีการเปิดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 โครงการงานศึกษาสำรวจออกแบบท่าเรือต้นทาง (Home Port) สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) บริเวณอ่าวไทยตอนบน โดยมี นายพิสิษฐ สิริสวัสดินุกูล นายอำเภอบางละมุง เป็นประธานเปิดประชุมสัมมนา พร้อมด้วย นายวรรณชัย บุตรทองดี ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม ตัวแทนประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม
นายวรรณชัย บุตรทองดี ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม กล่าวว่าจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของประชากรของโลก ส่งผลให้เกิดการ ขยายตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ เกิดธุรกิจการท่องเที่ยว โดยเรือสำราญระหว่างประเทศ และระหว่างภูมิภาค ส่งผลให้มีการขยายตัวของเรือสำราญ มาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา รวมทั้ง ประเทศไทย ทั้งนี้กระทรวงคมนาคม มีนโยบายในการพัฒนา โครงข่ายคมนาคม ทั้งทางบก น้ำ ราง และอากาศ ให้มีความเชื่อมโยง สะดวก ปลอดภัย สร้างความสามารถในการแข่งขัน ให้กับประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล กรมเจ้าท่าในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการพัฒนาท่าเรือ เพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ในประเด็นการท่องเที่ยวสัญจรทางน้ำ เพื่อให้มีการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญอย่างเต็มรูปแบบ ให้ประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ กรมเจ้าท่า จึงจัดให้มีงานศึกษาสำรวจออกแบบท่าเรือต้นทาง (Home Port) สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบนขึ้น อย่างไรก็ดี การศึกษานี้เริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 ในระหว่างการศึกษา ได้มีการประชุมกลุ่มย่อย และได้มีการจัดประชุมสัมมนาระดับจังหวัด ในพื้นที่เป้าหมาย ครั้งที่ 1 ไปแล้ว พร้อมทั้งได้มีการจัดประชุมในพื้นที่ส่วนกลาง ได้มีการจัดประชุมชี้แจง เรื่องเทคนิคและรูปแบบ ท่าเทียบเรือ (Technical Hearing) และการประชุมเพื่อทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding)
ซึ่งการศึกษาสำรวจออกแบบท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนเป็นการเปิดประตูของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทางหนึ่ง ในการที่จะเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามด้านการท่องเที่ยวทางทะเลระหว่างประเทศของไทย และมาตรฐานสากล ถือเป็นการเปิดประตูของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ อีกช่องทางหนึ่ง ในการที่จะเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวทางทะเลระหว่างประเทศของไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพื่อเป็นการนำรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ปัจจุบัน พบว่าประเทศไทยมีท่าเรือสำราญที่สายการเดินเรือสำราญสามารถเข้ามาแวะพักทางทะเลฝั่งอ่าวไทยตอนบน ได้เพียง 2 ท่าเท่านั้น คือ ท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งแต่ละท่ามีข้อจำกัด ปัญหา อุปสรรคในเรื่องของตัวท่าเทียบเรือ สิ่งอำนวยความสะดวก ระบบการเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือสำราญ และแหล่งท่องเที่ยว ที่แตกต่างกัน และอาจมีไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเรือสำราญขนาดใหญ่ที่มีครั้งละเป็นจำนวนมาก
นายวรรณชัย กล่าวต่ออีกว่า ส่วนการประชุมสัมมนาระดับจังหวัด ครั้งที่ 2 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้รับทราบผลการดำเนินงานของที่ปรึกษาที่ผ่านมา การปรับปรุงรูปแบบต่าง ๆ และรับฟังข้อคิดเห็นจากการประชุมสัมมนาครั้งที่ 1 รวมทั้ง การจัดทำ แผนปฏิบัติการ เพื่อการเตรียมความพร้อมของภาครัฐ และภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วม และรองรับการเข้ามาของเรือสำราญ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต บริเวณแหลมบาลีฮาย จังหวัดชลบุรี