“ม็อบผู้สูงอายุ” บุกประท้วงเดินหน้าลุย คัดค้านปรับเกณฑ์ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” บริเวณข้างกระทรวงการคลัง วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม 2566 ลั่นต้องจ่ายตามเดิม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2566 สื่อสำนักข่าวรายงาน ความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของ “ม็อบผู้สูงอายุ” ประกอบด้วย เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair จำนวน 100 กว่าคน ได้นัดรวมตัวบุกประท้วงที่บริเวณข้างกระทรวงการคลัง พร้อมออกแถลงการณ์ร่วมเครือข่ายประชาชน 53 องค์กร 1,468 รายชื่อ ปกป้องสวัสดิการประชาชน เพื่อทำการคัดค้านกรณี การตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ภายหลังจากที่กระทรวงมหาดไทย มีการกำหนดเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุที่ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค “นางสาว กรรณิการ์ ปู่จินะ” ระบุในแถลงการณ์ว่า ขอคัดค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยมีข้อเรียกร้องร่วมกัน 5 ข้อ คือ
1. ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทย ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว และกลับไปใช้ระเบียบเดิม ไม่ต้องมีการพิสูจน์ความจน และตัดสิทธิ์การรับสวัสดิการซ้ำซ้อนไว้แล้ว
2. คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเคราะห์หลักเกณฑ์ (กผส.) ต้องออกมาปกป้องสิทธิ์ของผู้สูงอายุทุกคน ไม่ตอบสนองต่อหลักเกณฑ์ใหม่
3. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องออกกฎหมายรองรับระบบบำนาญถ้วนหน้า ไม่ใช่ใช้หลักนโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามมติคณะรัฐมนตรี
4. กระทรวงการคลังควรตัดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและหารายได้ใหม่ ๆ เข้ารัฐเพื่อใช้จัดสวัสดิการให้ประชาชนแบบถ้วนหน้า เช่น ภาษีลาภลอย ภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น เป็นต้น
5. รัฐบาลใหม่ต้องผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้น และต้องเป็นสิทธิ์แบบถ้วนหน้า โดยระบุในกฎหมายให้ชัดเจน
ด้านประธานขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ “นายจำนงค์ หนูพันธ์” กล่าวในการชุมนุมว่า ปัจจุบันงบประมาณกองทัพที่ใช้ปีละมหาศาล รัฐบาลไม่เคยแตะต้อง แต่คุณทำกับประชาชนคนแก่แบบนี้ สมาชิกวุฒิสภาจัดตั้งจากเหล่าทัพที่เป็นตัวปัญหาของประเทศ กลับได้เบี้ยเลี้ยงวันละ 600-800 บาท ได้เบี้ยบำนาญหลายหมื่นบาทต่อเดือน ทำไมถึงทำกับประชาชนแบบนี้
ทั้งนี้ นายจำนงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เครือข่ายได้เคยมาเรียกร้องต่อกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา และปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า เบี้ยสูงอายุ จะได้เหมือนเดิม แต่ต่อมาวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2566 กลับมีการออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว เป็นการให้เบี้ยแบบไม่ถ้วนหน้า จัดสรรให้แบบอนาถา
รัฐบาลรักษาการ รีบชงเรื่องนี้ แบบหมกเม็ด ลักไก่ โดยประชาชนทุกคนกว่าจะอายุ 60 ปี ต้องผ่านการเสียภาษีให้รัฐตลอดทั้งทางตรง ทางอ้อม แต่ต้องมารับเบี้ยแบบคัดกรอง
“ทำสิ่งที่ไม่เท่าเทียมและเพิ่มเหลื่อมล้ำมากขึ้น รัฐบาลรักษาการชิงออกระเบียบใหม่ วัดฐานความยากจน ใครเป็นคนวัด ใครกลั่นกรอง ที่ผ่านมาบัตรคนจน ก็ตกหล่นเยอะ เช่น พี่น้องไร้บ้าน พี่น้องชาติพันธุ์ เอาหลักเกณฑ์อะไรมาวัด การมาครั้งนี้ จึงขอเรียกให้ปลัดกระทรวงการคลังออกมาพูดความจริง อย่าหลอกลวง ตระบัดสัตย์กับคนแก่ เขารอมาทั้งชีวิต” นายจำนงค์ กล่าว
จากนั้น ทางกลุ่มเครือข่ายผู้ชุมนุมเคลื่อนเข้ามาบริเวณประตู 4 โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของกระทรวงการคลัง รีบเข้ามาล็อกโซ่ที่หน้าประตูใหญ่ และล็อกแม่กุญแจประตูเพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาได้
ด้านเครือข่ายรัฐสวัสดิการ We Fair “นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์” ระบุว่า นอกจากมาที่กระทรวงการคลังแล้ว วันนี้ (17 ส.ค. 66) จะนำกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวไปที่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลปัญหานี้ เนื่องจากเป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม