นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ประชุมติดตามสถานการณ์ด้านการผลิตการตลาดผลไม้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ประกอบด้วย พาณิชย์จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ เกษตรจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ซึ่งจากการประชุมพบว่า ปริมาณผลผลิตผลไม้สำคัญ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ประมาณ 0.212 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 4% ประกอบด้วย ทุเรียน 0.102 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 10%) มังคุด 0.033 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 6%) เงาะ 0.017 ล้านตัน และลองกอง 0.060 ล้านตัน (ลดลง 5%) ซึ่งผลผลิตทุเรียน มังคุด เงาะ ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 เป็นต้นมา ผลลิตออกสู่ตลาดแล้ว 34% (ทุเรียน 33% มังคุด 41% เงาะ 34%) โดยลองกองจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2566 ซึ่งปัจจุบันทุเรียนทางภาคใต้ตอนบนหลายจังหวัดออกสู่ตลาดเกือบหมดแล้ว ขณะนี้เป็นช่วงผลผลิตของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ออกสู่ตลาด ราคาเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ดีตั้งแต่ช่วงต้นฤดู เกรด ABC อยู่ที่ กก.ละ 100-105 บ. ขยับขึ้นมาจาก กก.ละ 80-85 บ. ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการค้าเริ่มมีความมั่นในในคุณภาพมากขึ้น รวมถึงมีช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น ตลอดจนบางส่วนเริ่มแกะเนื้อเข้าห้องเย็น เนื่องจากก่อนหน้านี้มีผลผลิตทุเรียนของภาคตะวันออก และจังหวัดชุมพร มีการเก็บเข้าห้องเย็นน้อยเพราะราคาสูง ในขณะที่ทุเรียนเกรดส่งออกของจังหวัดชุมพร ราคายังคงทรงตัวอยู่ในเกณฑ์ดี อยู่ที่ กก.ละ 140-145 บ.
อย่างไรก็ตาม จากกระแสข่าวปัญหาด้านคุณภาพของทุเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (หนอนเจาะ ทุเรียนอ่อน) จากการตรวจสอบพบว่า ธรรมชาติของทุเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้ อาจพบเจอกรณีหนอนเจาะทุเรียนได้ เนื่องจากเกษตรกรมีการดูแลบำรุงรักษาต้นทุเรียนตามธรรมชาติ ผลผลิต
ไม่เป็นไปตามมาตฐานการส่งออก เมื่อผู้ประกอบการนำไปส่งออกโดยขาดความระมัดระวังหรือไม่มีความรอบคอบในการคัดเลือกทุเรียนบรรจุตู้ส่งออก จึงส่งผลให้มีการพบเจอหนอนในเมล็ดทุเรียน
ที่ปลายทางและด่านตรวจดังกล่าว ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายด้านการตลาดทุเรียน
ในภาพรวมโดยเฉพาะภาคการส่งออก จึงได้ขอความร่วมมือเกษตรกรจะต้องตัดทุเรียนให้มีเปอร์เซ็นต์ความสุกตามที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จะได้เข้มงวดตรวจสอบ และกำชับให้เกษตรกรและล้งดำเนินการต่อไป
นายอุดม ศรีสมทรง เปิดเผยอีกว่า ในวันพรุ่งนี้ (27 ส.ค.66) กรมการค้าภายใน ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดยะลา ใช้กลไกเซลล์แมนจังหวัด ดำเนินกิจกรรมเชื่อมโยงกระจายทุเรียนยะลา โดยรับซื้อทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลาเกรด ABC จากเกษตรกรในราคา กก.ละ 130 บาท ไปจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรง ณ ห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปริมาณรวม 500 ตัน อีกทั้ง กรมฯ จะยังคงดำเนินมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2566 ซึ่งมีมาตรการที่สำคัญ อาทิ
อมก๋อยโมเดล สนับสนุนกล่องไปรษณีย์ขนาด 10 กก. พร้อมค่าส่งฟรี เร่งดูดซับผลไม้ออกนอกแหล่งผลิตกรณีมีปัญหาเป็นการเร่งด่วน เช่น การกระจายมังคุดของ จ.นครศรีธรรมราช จ.ยะลา และจ.นราธิวาสในช่วงที่ผ่านมาสู่ห้างท้องถิ่นและห้างโมเดินเทรด กว่า 120 จุด และ Mobile พาณิชย์ กว่า 100 จุด ปริมาณ 1,000 ตัน เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมฯ จะได้ติดตามและประเมินสถานการณ์ด้านการผลิตการตลาดผลไม้ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาระดับเสถียรภาพด้านราคาของสินค้าผลไม้ให้อยู่ ในเกณฑ์ดีตลอดฤดูการผลิตต่อไป