สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) จัดทำโครงการ “SME Restart” โดยจับมือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อขยายการเตรียมพร้อมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ต้อนรับการท่องเที่ยวในประเทศไทยกลับมาบูม หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และคืนสู่ภาวะปกติ เชื่อมั่นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หนุนเสริมเศรษฐกิจไทยเติบโตยั่งยืน โดยงานจัดขึ้นที่ ฮอลล์ 8 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ท่ามกลางผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และบุคคลทั่วไป ร่วมงานและเป็นสักขีพยานจำนวนมาก
รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายในงานว่า จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องทางการเงิน การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยว การเสริมสร้างแรงงานให้มีทักษะด้านการท่องเที่ยวสมัยใหม่ การวางแผนการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายหลังจากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ การปรับตัวด้านพฤติกรรมการท่องเที่ยวสมัยใหม่ ตลอดจนการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน “จากที่กล่าวมา สสว. ได้เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวว่า เป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สสท.) จัดทำโครงการ SME Restart เพื่อขยายการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ Sandbox เพิ่มเติม ตามนโยบายของรัฐ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ในการก้าวสู่การท่องเที่ยววิถีใหม่ และสร้างต้นแบบกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน”
นายวีระพงศ์ กล่าวต่อไปถึงแผนการดำเนินงานว่า สสว.จะมีการรับสมัครผู้ประกอบการ SME ท่องเที่ยวทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการฯ พร้อมเผยแพร่ต้นแบบกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับการพัฒนา เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ทั้งแบบออนไลน์ ออฟไลน์ จากนั้นจะจัดกิจกรรมยกระดับผู้ประกอบการท่องเที่ยว (Tourism Transform) เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ ที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวยุคใหม่ พร้อมให้ความรู้ตามเมกะเทรนด์ อาทิ Wellness & Senior Tourism BCG & SDG เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการ และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในยุค New Normal/Next Normal ให้กับผู้ประกอบการ จำนวน 1,000 ราย พร้อมจัดกิจกรรมการเชื่อมโยงธุรกิจ (Business Collaboration) ให้กับผู้ประกอบการ และจัดเวิร์กช็อปเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการต้นแบบธุรกิจใน 5 สาขาอาชีพ ได้แก่ บริการ พาหนะทางน้ำ และบก โรงแรมและที่พัก ร้านอาหาร นำเที่ยวและมัคคุเทศก์ และธุรกิจสปา กับ แหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้ได้กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว แล้วนำไปพัฒนาเป็นกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวต้นแบบที่ยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าว สสว. ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ซึ่งเป็นหน่วยงานในการพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานระดับสากล สนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ และจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาด้านต่างๆ ซึ่งองค์ความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรมสามารถเป็นต้นแบบ และแนวทางให้กับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวรายอื่นๆ ได้ รวมถึงเป็นที่ปรึกษาในการเลือกพื้นที่ชุมชนในการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ภายใต้โครงการฯ โดย สสว. อพท. และ วช. ได้ร่วมกันกำหนดเกณฑ์การพิจารณาในการเลือกพื้นที่ชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายใต้โครงการฯ รวมถึงได้คัดเลือกพื้นที่ชุมชนในการเชื่อมโยง รวมทั้งสิ้น 35 ชุมชน ในพื้นที่ 10 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย โดยได้คัดเลือกกลุ่มชุมชน 2 ลักษณะ ได้แก่ กลุ่มชุมชนที่มีศักยภาพ และกลุ่มชุมชนที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ในการเชื่อมโยงภายใต้โครงการนี้ ที่จะได้รับประโยชน์ทั้งเชิงความรู้ แนวทางความต้องการนักท่องเที่ยวที่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และยังได้รับการประชาสัมพันธ์ชุมชนของตนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ผอสสว. เผยว่า สสว. วช. และ อพท. จึงได้จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภายใต้โครงการ “SME Restart” เพื่อแสดงถึงความร่วมมือ และการเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐในการบูรณาการ การทำงาน และประสานการทำงานของภาครัฐร่วมกันในการส่งเสริมสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวต่อไป โดยการลงนามครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือ ในการให้ข้อมูลสนับสนุนในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายใต้โครงการฯ เพื่อช่วยเหลือ เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ในการดำเนินงานโครงการฯ ภายใต้ขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้
4.สสว. วช. และ อพท. ให้ความร่วมมือในการประชุมร่วมกันเพื่อประเมินผลการดำเนินโครงการฯ ตลอดจนร่วมกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ จากการดำเนินโครงการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“จากการร่วมลงนามความร่วมมือ จัดทำโครงการ ‘SME Restart’ ในครั้งนี้ สสว. เชื่อมั่นว่าจะสามารถสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ให้กลับมาดำเนินกิจการได้อย่างเต็มรูปแบบ และฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว อันส่งผลต่อการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย และหนุนเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตยั่งยืนต่อไป” ผอ.สสว. กล่าวทิ้งท้าย