ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ได้รับเกียรติจาก พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงาน คปภ.กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีนางนภา เศรษฐกร รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งสำนักงาน คปภ. และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) จะบูรณาการความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยให้กับคนพิการ เด็กและเยาวชน เจ้าหน้าที่ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินให้กับตนเองและครอบครัวโดยใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง อันเป็นการส่งเสริมให้ประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับกรอบความร่วมมือในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นความร่วมมือกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะให้คำปรึกษาแนะนำข้อมูล หรือข้อกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของ พก. และกลุ่มคนพิการ ในส่วนของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) จะให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวกและให้การสนับสนุน สำนักงาน คปภ. เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยและสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองของระบบการประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของ พก. และกลุ่มคนพิการ
ส่วนที่สอง เป็นความร่วมมือกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) โดยสำนักงาน คปภ.จะให้คำปรึกษาแนะนำข้อมูลหรือข้อกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และการคุ้มครองสิทธิ ประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของ ดย. กลุ่มผู้ประกอบกิจการหอพัก รวมทั้งนักเรียน หรือนักศึกษาที่อาศัยอยู่ในหอพัก และกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ในส่วนของกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) จะให้ความร่วมมือ อำนวยความสะดวกและให้การสนับสนุนสำนักงาน คปภ. เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย และสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองของระบบการประกันภัย ให้กับเจ้าหน้าที่ของ ดย. กลุ่มผู้ประกอบกิจการหอพัก รวมทั้งนักเรียน หรือนักศึกษาที่อาศัยอยู่ในหอพัก
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การทำ MOU ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณาการความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบระหว่าง สำนักงาน คปภ. กับ พม. ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสำนักงาน คปภ. กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมใน 5 ประการหลักๆ คือ ประการแรกมีการเชื่อมเครือข่ายระหว่างสำนักงานคปภ.กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีครอบคลุมทั่วประเทศเข้าด้วยกันเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เช่นกลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ประกอบกิจการหอพัก นักเรียน นักศึกษาที่อาศัยอยู่ในหอพัก และการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับการประกันภัย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการและพรบ.หอพักให้กับเจ้าหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงาน
ประการที่ 2 ร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงาน คปภ. กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมกิจการเด็กและเยาวชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้เหมาะสม และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย
ประการที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิด้านการประกันภัย โดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมกิจการเด็กและเยาวชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้ประชาชนได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม รวมทั้ง ประชาชนที่เข้าร่วมรับการอบรมความรู้ก็สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับครอบครัว ชุมชนของตนเองได้ ซึ่งเป็นแนวทางในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์เบื้องต้นของประชาชนและชุมชนได้ดียิ่งขึ้น
ประการที่ 4 เพิ่มความร่วมมือร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักงาน คปภ. ได้จัดทำแผนงานในปี 2561 เพื่อบูรณาการร่วมกันระหว่างสำนักงาน คปภ.ภาค/จังหวัด กับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะมีแนวทางการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อตอบสนองกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ
ประการที่ 5 สร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุก โดยสำนักงาน คปภ. ได้จัดทำโครงการ “คปภ. เพื่อชุมชน”โดยการลงพื้นที่รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุกให้แก่ประชาชนในชุมชน เพื่อให้ประชาชนในชุมชนได้ตระหนัก เห็นคุณค่า และคุณประโยชน์ของการทำประกันภัย โดยเฉพาะประกันภัยสำหรับรายย่อย หรือ ไมโครอินชัวรันส์ ซึ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยราคาถูกเหมาะสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางให้สามารถเข้าถึงกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว อันเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีสวัสดิการที่ครอบคลุมและเกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในการขับเคลื่อนโครงการต่อไป
“สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ที่มีภารกิจในการกำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มในประเทศ ได้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถเข้าถึงการประกันภัย และเลือกใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับรายย่อย เพื่อให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้เข้าถึงการประกันภัย รวมถึงพัฒนาช่องทางการจำหน่ายให้สามารถตอบสนองการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนพิการ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานบางอย่าง ฉะนั้นจึงควรที่จะได้รับสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือและให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง และได้รับการส่งเสริมโอกาสการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่ต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย