สมอ. ลงพื้นที่ภาคใต้ สร้างเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ประกอบการตลาดให้ขายสินค้ามีมาตรฐาน มอก. มุ่งผลักดันอุตสาหกรรมคอนกรีตในพื้นที่หันมาใช้ปูนไฮดรอลิกแทนปูนซิเมนต์ปอร์ตแลนด์ เพื่อลดโลกร้อน พร้อมให้ความรู้ผู้ผลิตชุมชนด้านอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยมาตรฐาน มผช.
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรม “สมอ. สัญจร” เป็นการบูรณาการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านการมาตรฐานของ สมอ. ลงสู่พื้นที่ภูมิภาค เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ผู้ผลิตชุมชน และร้านค้ารายย่อย รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีความรู้ด้านการมาตรฐานและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงาน และการดำเนินธุรกิจของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จให้ภาคธุรกิจ ควบคู่กับการดูแลประชาชน สิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้ให้กับประชาชน
ในปีงบประมาณ 2566 สมอ. ได้จัดกิจกรรม สมอ. สัญจรมาแล้วจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดพิษณุโลก โดยมีเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ ร้านจำหน่าย และผู้ผลิตชุมชนได้รับความรู้ด้านการมาตรฐานกว่า 1,300 คน และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ของปีงบประมาณนี้ สมอ. เลือกจังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ของภาคใต้ มีสถานประกอบการได้รับใบอนุญาต มอก. จำนวน 63 ราย ในหลากหลายสาขาอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์คอนกรีต บริภัณฑ์ส่องสว่าง ถุงมือยางทางการแพทย์ และถุงยางอนามัย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) จำนวน 39 ราย ผู้ผลิตชุมชนได้รับการรับรองตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จำนวน 105 ราย โดยกิจกรรม สมอ.สัญจร ครั้งนี้ สมอ. บูรณาการกิจกรรมหลายๆ ด้าน ที่เกี่ยวข้องกับบทบาทภารกิจการดำเนินงานด้านการมาตรฐานของ สมอ. ได้แก่
1. เยี่ยมชมกระบวนการผลิตสินค้า และการให้บริการที่ได้มาตรฐานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรักษ์สมุนไพร และสวนลุงสงค์ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) จาก สมอ.
2. พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การส่งเสริมผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยให้จำหน่ายสินค้ามาตรฐาน มอก. เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ระหว่าง สมอ. กับ เทศบาลเมืองดอนสัก เทศบาลตำบลพุมเรียง และเทศบาลตำบลบ้านนา ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลตลาดในพื้นที่ เพื่อประกาศเจตนารมย์ความร่วมมือในการจำหน่ายสินค้าที่เป็นไปตามมาตรฐาน และถูกต้องตามกฎหมาย
3. การสัมมนาให้ความรู้ด้านการมาตรฐานและการจำหน่ายสินค้า มอก. ที่ผู้กำกับดูแลตลาดผู้ประกอบการตลาด และร้านจำหน่ายต้องรู้ แก่เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้านค้ารายย่อย และร้านจำหน่าย ให้สามารถนำความรู้ไปเผยแพร่สู่ชุมชนและนำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. การสัมมนาเรื่อง “มอก. : ทางเลือกสู่ “ทางรอด” ในการดำเนินธุรกิจ” เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการกลุ่มผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ มีความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลักดันให้อุตสาหกรรมในพื้นที่เลือกใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ในกระบวนการผลิต เพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนต่อไป
5. การสัมมนา เรื่อง “มผช. สร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมมูลค่าเกษตรแปรรูป” เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และสมุนไพร ได้มีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับเกณฑ์ ข้อกำหนดตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน
นอกจากนี้ ยังจัดให้มีพิธีมอบใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนแก่ผู้ผลิตชุมชน จำนวน 10 ราย ที่ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์แชมพู ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว น้ำมันมะพร้าว แกงไตปลาแห้ง เค้ก ขนมไทย และแชมพูสำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น และพิธีมอบใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) แก่ผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 13 ราย ได้แก่ การบริการนวดและสปา การบริการกำจัดปลวก หนู และแมลง การบริการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยว การบริการที่พักสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น กิจกรรมเชิงเกษตร เพื่อการท่องเที่ยว และการบริการถ่ายและตัดต่อวิดีโอ ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการ SMEs ร้านค้า ร้านจำหน่าย ผู้ผลิตชุมชน ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ www.tisi.go.th หรือ http://www.facebook.com/tisiofficial หรือ โทร. 0 2430 6833 ต่อ 2310 เลขาธิการ สมอ. กล่าว