นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ย้ำถึงภารกิจเร่งด่วนที่ต้องทำทันทีภายใน 3 เดือน โดยเฉพาะแนวทางสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่และอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ รวมถึงการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษขยายไปสู่ 4 ภาคของประเทศ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า อยากเห็นกระทรวงอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการ ลดขั้นตอนการติดต่อเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดยย้ำว่าต้องทำนโยบายรัฐบาลให้สำเร็จภายในระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคม
โดยในส่วนของ กนอ.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบายการทำงานเพิ่มเติมแก่ กนอ. ว่า ขอให้ กนอ.ขับเคลื่อนการพัฒนาแรงงานในนิคมอุตสาหกรรม สร้างความเชื่อมั่นและให้ข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์ และการอำนวยความสะดวกที่จะได้รับในการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ตามแนวนโยบายที่ได้รับมอบหมาย กนอ.จะได้มีการหารือกับผู้รับผิดชอบต่อไป เพื่อยกระดับภารกิจ ที่ดำเนินการอยู่แล้วให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้รับมอบหมาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนมากที่สุด โดยมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนทุกขั้นตอน ตั้งแต่การให้คำปรึกษาด้านการตลาดและการลงทุน การหาคู่ค้า การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ การจัดกิจกรรมส่งเสริม การลงทุน การขอรับสิทธิประโยชน์ การขออนุญาตประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม การขออนุญาตก่อสร้างโรงงาน โดยได้ดำเนินการลดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาให้เร็วขึ้น รวมถึงการพัฒนาแรงงานในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้มีทักษะและความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ในการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมและการจัดหาแรงงานให้กับผู้ประกอบการ
“ผมเชื่อว่าสิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกที่ กนอ.มอบให้กับนักลงทุน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ให้เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น อันจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่างมหาศาล ซึ่งเป็นการตอกย้ำศักยภาพการลงทุนภายใต้ความเชื่อมั่น“ลงทุนในไทย ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม”โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมใน EEC ที่มีจุดแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดีและ มีคุณภาพสูงในภูมิภาค ทั้งถนน ท่าเรือ สนามบิน นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่รองรับการลงทุน และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รวมทั้งระบบห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจรสามารถรองรับอุตสาหกรรมหลักๆ ได้ ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรืออุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์”ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวทิ้งท้าย