นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และประธานมูลนิธิอมตะ กล่าวถึงนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาความยากจนว่า รัฐบาลมีนโยบายแจกเงินให้กับประชาชนวงเงิน 5แสนล้านบาท ถือเป็นเป็นการช่วยระยะสั้น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าเม็ดเงินตรงนี้เอาไปให้คนจนจริง ๆ และเมื่อพวกเขาเอาใช้จ่าย ตนก็เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนจนในระยะสั้น และกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะไม่ยาว แต่ปัญหาที่ต้องคำนึงก็คือ เงินตรงนี้ถ้าเอาไปแจกแล้ว รัฐบาลจะมีภาระ ประเทศจะมีปัญหาหรือไม่ เพราะมันเป็นเงินส่วนรวม แน่นอนว่า ถ้าเรามีเงินเยอะ มีความสามารถในการหาเงินมาและคืนเงินได้ในอนาคต ซึ่งนำมาช่วยประชาชนกลุ่มคนจนที่มีปัญหามาตั้งแต่สมัยโควิด ตนก็คืดว่าเป็นประโยชน์ เพราะเงินตรงนี้จะเข้าไปกระตุ้นในภาคการผลิต
ส่วนนโยบายลดราคาพลังงาน ตนอยากให้รัฐบาลไปดูประเทศเพื่อนบ้านว่ารายได้ต่อหัวต่อปี(จีดีพีต่อหัว)เท่าไร และต้นทุนของค่าครองชีพน่าจะอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ แล้วค่อยไปดูราคาพลังงานที่ควรจะเป็นอยู่ที่เท่าไหร่ วันนี้ถ้าจะประกาศลดอะไรที่มันเป็นของส่วนรวมต้องมีเหตุผลและไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนด้วย เราอย่าไปเอาใจประชาชนอย่างเดียว เราต้องดูในการผลิตด้วย เพราะประเทศจะต้องเดินไปด้วย โรงงาน แหล่งการผลิต ถ้ามีต้นทุนที่สูงก็ไม่สามารถทำได้
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลจะทำอะไรก็แล้ว ไม่ใช่คุยกันแค่ไม่กี่คน จะต้องมีการศึกษา ทำการบ้าน อย่างเช่น ประเทศเวียดนาม ทำไม 5 ปีที่ผ่านมา เม็ดเงินในการลงทุนของเขามากกว่าถึง 2-3 เท่า ก็เพราะค่าไฟฟ้า ค่าน้ำในเวียดนามมีราคาถูก ต้องดูปัญหาตรงนี้ด้วย ไม่ใช่นั้นประเทศไทยก็จะขาดความสามารถในการลงทุน เพราะประเทศต่าง ๆ เช่น จีน สิงค์โปร์ เวียดนาม ล้วนแต่มีเม็ดเงินจากนักลงทุน
นายวิกรม กล่าวว่า ส่วนนโยบายขึ้นค่าแรง เป็นสิ่งที่จำเป็นในสถานการณ์เงินเฟ้อ ต้นทุนค่าครองชีพสูง จะไปบอกว่าเราต้องรักษาค่าแรงให้ถูกแบบนี้ ตนมองว่ามันก็ไม่ยุติธรรม เพียงแต่ การขึ้นค่าแรงต้องไม่ใช่เอาระบบประชานิยมมาขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดเช่น จาก 200 บาทเป็น 300 บาท ภายในเวลาเท่านี้ ตนว่าแบบนี้ไม่ใช่การบริหารเศรษฐกิจที่เหมาะสม การจะขึ้นค่าแรงควรจะขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ขึ้นอย่างมีเหตุผลเช่น เงินเฟ้อเท่าไหร่ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ค่าพลังงานเท่าไหร่ แต่ละปีมันเพิ่มเท่าไหร่ เมื่อเราเห็นตัวเลขตรงนี้แล้ว ก็มาดูว่าเราจะปรับจากตัวเลขนี้มากน้อยเท่าไหร่ ซึ่งต้องทำทุกปี เพราะต้นทุนมีการขยับขึ้น
"ที่ผ่านมาเรามีนักการเมืองที่มีผลงานทางเศรษฐกิจกี่คน แต่วันนี้เราได้คนที่มีฝีมือ มีผลงาน เขาบริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เขาผ่านขั้นตอนมา เขารู้ว่าอะไรถูกควร ปล่อยให้เขาบริหารสัก 1 ปี โดยปล่อยให้เขาทำงานไปก่อนเมื่อครบแล้วค่อยอัดเต็มที่ ไม่ต้องยั้งมือ หากสิ่งที่พูดไว้ทำไม่ได้ คอยดูว่าทำได้กี่เปอร์เซนต์เมื่อครบ 1 ปี เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยมีคนเก่งจำนวนมาก แต่ไม่มีใครยอมที่จะมาทำหน้าที่บริหาร เพราะไม่อยากเจ็บตัว"
นอกจากนี้ยังพร้อมที่จะเดินหน้าร่วมมือหน่วยงานปราบมิจฉาชีพไซเบอร์ต่อเนื่อง เสนอรัฐบาลเร่งมาตรการป้องกันลดความสูญเสียทรัพย์สินของประชาชน ชี้เป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจ กระทบความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศ พร้อมให้ความร่วมมือรณรงค์เตือนภัยประชาชนอย่า หลงเชื่อ เช็คข้อมูลอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
"ขณะนี้รัฐบาลใหม่กำลังเข้ามาบริหารประเทศ จึงอยากให้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ซึ่งมีการแพร่ระบาดและมีการใช้ฐานของต่างประเทศเป็นแหล่งหลอกลวงมายังประเทศไทย ซึ่งมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และยังเป็นการสร้างผลกระทบต่อระบบ เศรษฐกิจของประเทศ"นายวิกรมกล่าว