กรมประมง เริ่มแผนปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 62 ล้านตัว 62 จังหวัด ในลุ่มน้ำจืดสำคัญของประเทศ ตามนโยบายเร่งด่วนของนายกรัฐมนตรี นำร่องปล่อยครั้งแรก 23 ล้านตัวพร้อมกัน 23 จังหวัด หวังเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารให้กับไทย
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้กรมประมงดำเนินการเพิ่มผลผลิตทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติให้คงความอุดมสมบูรณ์เพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนของประชาชนและเป็นแหล่งประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้กับพี่น้องชาวประมงช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งนับเป็นการดูแลกลุ่มเกษตรกรฐานรากให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน สอดรับกับนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้กำชับให้กรมประมงสร้างคลังเสบียงอาหารภาคการประมง
ดังนั้น กรมประมงจึงได้จัดทำโครงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในลุ่มน้ำสำคัญของประเทศ 62 จังหวัด 62 ล้านตัว ใน 23 ลุ่มน้ำทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ โดยมีแผนการดำเนินการ ดังนี้
• วันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2566 มีการนำร่องปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืด ได้แก่ ปลาตะเพียนขาวปลาบ้า ปลาสร้อยขาว ปลากาดำ ปลาแก้มช้ำ ปลากระแห ปลาตะเพียนทอง ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ 23 จังหวัด รวม 23 ล้านตัว (จังหวัดละ 1 ล้านตัว) อาทิ
กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา หนองหาร จังหวัดสกลนคร บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง และจังหวัดอื่น ๆ ได้แก่ น่าน ลำปาง ลำพูน ตาก ลพบุรี เลย ขอนแก่น อุบลราชธานี สุรินทร์ นครราชสีมา ชัยภูมิ สระบุรี ระยอง กาญจนบุรี เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี สตูล ยะลา
• วันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2566 ปล่อยเพิ่มอีก 39 จังหวัด รวม 39 ล้านตัว โดยพันธุ์ปลาที่นำมาปล่อยเป็นพันธุ์ปลาน้ำจืด ได้แก่ ปลาบ้า ปลาตะเพียนขาว ปลาแก้มช้ำ ปลาสร้อยนกเขา ปลากระแห ปลาตะเพียนทอง ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย สุโขทัย อุตรดิตถ์ แพร่ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พิจิตร ชัยนาท สิงห์บุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี ปทุมธานี อ่างทอง อยุธยา ราชบุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง ปัตตานี นราธิวาส หนองคาย ขอนแก่น อุดรธานี นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ ศีรษะเกษ สระแก้ว ปราจีนบุรี ตราด สมุทรปราการ และชลบุรี
โดยพันธุ์สัตว์น้ำที่นำมาปล่อยในโครงการนี้ เป็นลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ขนาด 2-3 ซม. และลูกปลาวัยอ่อน อายุ 2 วัน ที่ได้จากการเพาะด้วยชุดอุปกรณ์เพาะฟักแบบเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) กรมประมงเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวฯ จะสามารถเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศได้ถึง 750 ตัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่กว่า 80 ล้านบาท ที่สำคัญผลผลิตเหล่านี้จะกลายเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญให้กับประชาชนในพื้นที่ สามารถสร้างรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือน ภายใต้การบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืนด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน