นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. โดยมี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธาน ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยคาดว่าจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไป
ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีแผนผลักดันรถไฟฟ้า 2 สาย ที่อยู่ในการดำเนินการของหน่วยงานรัฐ ระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ เชื่อมต่อรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน
ทั้งนี้ รฟม.เตรียมนำมติบอร์ดที่เห็นชอบปรับอัตราค่าโดยสารเหลือ 14-20 บาท และมีมติเพิ่มเติมกำหนดค่าโดยสารของเด็กและผู้สูงอายุ จะได้รับส่วนลด 50% และนักเรียน-นักศึกษา จะได้รับส่วนลด 10% จากอัตราค่าโดยสารใหม่ เสนอไปยังกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 29 กันยายนนี้
เพื่อนำข้อมูลไปรวมกับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทันใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่แน่นอน ส่วนการเดินทางข้ามสายระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับสายสีแดงนั้นจะคิดอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 20 บาทเช่นกัน
“จากนโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้รายได้ค่าโดยสารสายสีม่วงลดลงประมาณ 190 ล้านบาทต่อปี หรือลดลงประมาณ 60% ของรายได้ผู้โดยสาร ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อเริ่มใช้นโยบายดังกล่าวจำนวนผู้โดยสารสายสีม่วงจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน หรือคิดเป็น 17% จากปกติมีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 5.6 หมื่นคนต่อวัน
ซึ่งผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 6.6 หมื่นคนต่อวัน โดยมีการเดินทางเฉลี่ยอยู่ที่ 8 สถานี จากจำนวนทั้งหมด 16 สถานี ค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 23 บาท ส่วนการเดินทางข้ามสายระหว่างสายสีม่วงกับสายสีแดงปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มาก หรืออยู่ที่ประมาณ 100-200 คนต่อวัน” นายภคพงศ์ กล่าว
นายภคพงศ์กล่าวว่า ส่วนในเรื่องของการแบ่งรายได้จะใช้วิธีการเก็บจากสถานีต้นทาง หากผู้โดยสารขึ้นที่สถานีสายสีม่วง รฟม.ก็จะเป็นผู้รับรายได้ในส่วนนั้นไป หากผู้โดยสารขึ้นจากรถไฟฟ้าสายสีแดง รฟท.จะได้รายได้ในส่วนนั้นไปเช่นกัน
โดยทั้งหมดนี้จะให้บริการผ่านระบบ EMV หรือการใช้บริการผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตเท่านั้น ไม่รับเงินสด หรือใช้ระบบเหรียญแบบในปัจจุบัน ส่วนในกรณีที่จะใช้เงินชดเชยไปอีกกี่ปีนั้น รฟม.ขอพิจารณาก่อน หากผู้โดยสารเพิ่มขึ้นที่ 17% ต่อปี ก็คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี รฟม.จึงจะคืนทุน
นอกจากนี้ รฟม.ขอประเมินผลในช่วง 1 ปีของการใช้นโยบายนี้ก่อน เพราะเชื่อว่าหากมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้อาจทำให้การชดเชยรายได้ใช้เวลาน้อยลง และแน่นอนว่านโยบายนี้ส่งผลบวกต่อผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ ทำให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์