สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ร่วมกับ สถาบัน กนอ. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2566 “Eco Innovation Forum” ภายใต้แนวคิด “MIND INSPIRE for Eco 2023” ซึ่งได้รับเกียรติจากนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน และกล่าวปาฐกถาพิเศษ “MIND & INSPIRE ขับเคลื่อน Eco Industrial for Carbon Neutrality” นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รศ.ดร. วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้บริหารระดับสูงของ ส.อ.ท. กระทรวงอุตสาหกรรม และ กนอ. เข้าร่วมในครั้งนี้ ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพมหานคร
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบาย “MIND & INSPIRE ขับเคลื่อน Eco Industrial for Carbon Neutrality” ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการปฏิรูปการทำงานตามนโยบาย MIND ในการใช้หัวและใจขับเคลื่อนการปฏิบัติงานเพื่อก้าวสู่ Eco Industrial for Carbon Neutrality โดยยกระดับ “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” ใน 4 มิติ ได้แก่ ส่งเสริมธุรกิจ ดูแลชุมชน รักษาสิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่สมดุลกับสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ภายใต้ BCG Model มุ่งสู่เป้าหมายอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การวางระบบดูแล ควบคุม และกำจัดของเสียในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน การใช้พลังงานทางเลือก สู่การเป็นอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ (Bio-Circular Economy) เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดต้นแบบอุตสาหกรรมคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero Carbon Industry)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นพันธมิตรร่วมจัดงานสัมมนาวิชาการ “Eco Innovation Forum” กับ ส.อ.ท. มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยการจัดงานในปีนี้ภายใต้แนวคิด “MIND INSPIRE for Eco 2023” ท่ามกลางความท้าทายด้านเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่มากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อีกทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบมากขึ้น โดยประเทศไทยได้ประกาศความมุ่งมั่นที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัว และเตรียมพร้อมทั้งการมุ่งสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินกิจกรรมขององค์กร
“ส.อ.ท. ให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว และพัฒนาแพลตฟอร์ม FTIX ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต รวมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนของเสีย หรือ Circular Material Hub (CMH) สำหรับเป็นช่องทางการนำของเสียหรือวัสดุไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงานผ่านสตาร์ทอัป (Startup) รวมถึงมีกองทุนอินโนเวชั่นวัน (Innovation one) สำหรับให้ทุนในธีม BCG และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมไทยพัฒนาตนเองและเติบโตอย่างยั่งยืน รวดเร็ว และเกิดความคล่องตัว”
ด้าน รศ.ดร. วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การจัดงานในปีนี้ นอกจากจะเป็นงานสัมมนาวิชาการแล้ว ยังเป็นเวทีเผยแพร่ผลการดำเนินงานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย ด้วย BCG Model ของกระทรวงอุตสาหกรรม และการยกระดับเพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ “นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน” ของ กนอ. ที่มุ่งมั่นในการเพิ่มคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทั้งทางด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมบนหลักธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance: ESG) ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ ภายในงานยังได้จัดพิธีมอบโล่เกียรติยศและประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2566 เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่นิคมอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรม และผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเป็นรางวัลสำหรับนิคมอุตสาหกรรมที่ยกระดับเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-World Class จำนวน 7 แห่ง ระดับ Eco-Excellence จำนวน 22 แห่ง ระดับ Eco-Champion จำนวน 39 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) จำนวน 50 แห่ง โรงงานเครือข่ายลดก๊าซเรือนกระจกดีเด่น จำนวน 6 แห่ง และวอเตอร์ฟุตพริ้น (Water Footprint) จำนวน 16 แห่ง โดยมีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการกว่า 600 ราย
นอกจากนี้ ยังมีการแสดงนิทรรศการต่าง ๆ อาทิ MIND & INSPIRE ให้ หัว และ ใจ นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากลด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน บูธแสดงผลงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การนำของเสียมาใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากวัสดุเหลือใช้ และตัวอย่างโรงงานที่มีการดำเนินงานด้าน Industrial symbiosis ที่เป็นความสัมพันธ์ที่พึ่งพาอาศัยกันและกัน ตั้งแต่ 2 โรงงานขึ้นไป โดยมีการแลกเปลี่ยนพลังงาน สสาร ในลักษณะของต่างฝ่าย/ต่างได้รับประโยชน์อีกด้วย