ท่าอากาศยานไทย รับนโยบายเร่งเครื่องท่องเที่ยว เผยวีซ่าฟรีเห็นผลจีนเดินทางเพิ่ม เตรียมเสริมศักยภาพสนามบิน หนุนบริการเดินทางสะดวก รวดเร็ว พร้อมเดินหน้าเป้าหมายเดินทางอย่างยั่งยืน ประกาศ 4 ปีข้างหน้า สนามบินใช้ไฟพลังงานแสงอาทิตย์และรถโดยสารอีวี
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT กล่าวในหัวข้อ “พลังเอกชน ปักธง Thailand…Global Destination ดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลก เคลื่อนเศรษฐกิจไทย“ ในงานสัมมนา “Thailand Economic Outlook 2024: Change the Future Today” จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2566 ว่า ตอนนี้การเร่งเครื่องยนต์การท่องเที่ยวเป็นนโยบายหลักที่เราพยายามดำเนินการ เพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวกลับมาหลังผลกระทบจากโควิด ซึ่งปัจจุบันฟื้นตัวแล้วกว่า 70% จากปี 2562 โดยได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากสหรัฐ ยุโรป รวมทั้งตลาดใหม่อย่างอินเดีย และตะวันออกกลาง แต่ตลาดที่ยังคงไม่กลับมาเต็มที่คือ จีน
อย่างไรก็ดี รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการท่องที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้ โดยการให้วีซ่าฟรีกับนักท่องที่ยวจีน เพื่อลดอุปสรรคและระยะเวลาในการตัดสินใจเดินทาง
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2566 พบว่าตัวเลขการจองเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในช่วงสามเดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยสนามบินสุวรรณภูมิมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 3.5 แสนคนต่อเดือน เป็น 6 แสนคนต่อเดือน รวมถึงสนามบินภูเก็ตที่เพิ่มขึ้นจาก 7 หมื่นคนต่อเดือน เป็น 1.5 แสนคนต่อเดือน
“ฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีนทำให้การตัดสินใจเดินทางและวางแผนง่ายขึ้น บวกกับในช่วงปลายปีและวันชาติของจีน ส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวตอบสนองต่อมาตรการของรัฐ”
ทั้งนี้ ท่าอากาศยานไทยเองก็จะมีการดำเนินมาตรการที่จะสนับสนุนและดึงดูดนักท่องเที่ยว ในด้านการบริการที่สะดวกและรวดเร็ว ในการตรวจค้นและผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองให้สั้นที่สุด
โดยการเตรียมความพร้อมและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น การจดจำใบหน้า การเช็คอินด้วยตนเอง ดรอปกระเป๋าและเช็คอินล่วงหน้า 5 ชั่วโมง รวมทั้งจูงใจสายการบินจีนที่จะพานักท่องเที่ยวเข้ามา
นอกจากนี้ ยังเพิ่มศักยภาพของสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเปิดบริการอาคารผู้โดยสารใหม่ SAT-1 รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะรองรับการเดินทางและเพิ่มขีดความสามารถของสนามบิน ทั้งสนามบินดอนเมืองเฟส 3 สนามบินภูเก็ต และสนามบินเชียงใหม่
“การเดินทางอย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในเป้าหมายของท่าอากาศยานไทย ในการไปสู่ Net Zero โดยใน 4 ปี สนามบินจะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และรถโดยสารที่จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เช่นเดียวกัน”