นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึง ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 29 กันยายน – 5 ตุลาคม 2566 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,281,959 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 176 ข้อความ ทั้งนี้ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 157 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 19 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 106 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 59 เรื่อง
ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 47 เรื่อง 2.ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 26 เรื่อง 3.ภัยพิบัติ จำนวน 9 เรื่อง 4.เศรษฐกิจ จำนวน 24 เรื่อง และแบ่งเป็นเรื่องการหลอกลวงธุรกรรมทางการเงิน จำนวน 21 เรื่อง
นายเวทางค์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และกลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชน มากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่ 1.ธ.กรุงไทย ปล่อยสินเชื่อกรุงไทยใจป๋า อนุมัติสูงสุด 5 ล้านบาท ไม่ต้องมีหลักประกันเพจ “บอกต่อ” 2.ธ.ออมสินปล่อยสินเชื่อไทรทอง กู้ได้ทุกอาชีพ ระยะเวลาชำระกู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี 3.ก.ล.ต. เปิดบัญชีพอร์ตทำกำไรต่อวันรับปันผลระยะยาว 10 ปีขึ้นไป
4.เพจเฟซบุ๊กขายหุ้นดิจิทัลบางจาก รับรองจาก ก.ล.ต. เริ่มต้นลงทุน 1,000 บาท 5.ธ.อ.ส. ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน ม.33 ผ่านเพจ Loans Online รวมสินเชื่อเพื่อคุณ 6.สินเชื่อออมสินเปิดบริการให้ยืมเงินออนไลน์ อนุมัติไว 7.เพจ “ขับขี่ปลอดภัยเร่งด่วน.v1” รับทำใบขับขี่ ทุกประเภท 8.เจ้าบ้านตามทะเบียนบ้านรับเงิน 20,000 บาท ได้ทุกครอบครัว รับเงินทันทีไม่ต้องลงทะเบียน 9.ผู้ที่เป็นริดสีดวง เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ 10.ปตท. เปิดลงทุนซื้อหุ้น เริ่มต้น 1,000 บาท ผลตอบแทนสูง
ทั้งนี้ กระทรวงฯติดตามความเคลื่อนไหวข้อความที่ผิดปกติในทุกช่องทาง และได้มีการติดตามการกระทำผิดอย่างต่อเนื่องเพื่อปกป้องประชาชนจากมิจฉาชีพในทุกรูปแบบ หากมิจฉาชีพกระทำความผิดจะมีความผิดตามพ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ คือ โทษจำคุก 3 ปี ปรับ 300,000 บาท จึงขอความร่วมมือจากประชาชน เลือกแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และถูกต้อง หรือหากท่านได้รับการแจ้งข้อมูลที่ผิดปกติ ผ่านเอสเอ็มเอส หรือทางโทรศัพท์ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง”