นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 20 กันยายน 2560 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าว 28 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และฮ่องกง ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 468 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 862 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 4 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 47 ล้านบาท ได้แก่ บริการเป็นสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters : IHQ) เพื่อกำกับดูแลกิจการของสาขาหรือวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ บริการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นมและอาหารสำหรับเด็กและทารก บริการให้ใช้ช่วงสิทธิโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับจัดการข้อมูลในการออกแบบ บริการให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับคุณสมบัติ วิธีการใช้และการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้งานของเม็ดพลาสติกคอมพาวด์ โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าว จากประเทศสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์
2. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 9 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 90 ล้านบาท ได้แก่ การทำกิจการโฆษณา บริการติดตั้งซ่อมแซมบำรุงรักษาและให้คำปรึกษาแนะนำวิธีการใช้งานเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ บริการตรวจสอบเรือเดินทะเล สิ่งปลูกสร้างนอกฝั่งทะเล เครื่องจักรและท่อความดัน และระบบบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องเพื่อการจัดชั้นเรือ บริการวัดค่าและเปรียบเทียบค่าต่างๆ เกี่ยวกับยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ บริการรับจ้างผลิตสินค้าประเภทชิ้นส่วนถุงลมนิรภัย บริการรับจ้างลับคมดอกสว่านที่ใช้ในการเจาะรูแผ่นวงจรพิมพ์ บริการติดตั้งซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องสูบ บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษามอเตอร์และเครื่องปรับความเร็วรอบมอเตอร์ โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์
4. ธุรกิจนายหน้าตัวแทน/ค้าปลีก/ค้าส่ง จำนวน 10 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 77 ล้านบาท ได้แก่ นายหน้าเพื่อจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีการสื่อสารสำหรับทดสอบและวัดคุณภาพของสัญญาณวิทยุโทรคมนาคม นายหน้าและตัวแทนเพื่อจำหน่ายเครื่องควบคุมแกนหมุน ตัวแทนจำหน่ายเครื่องชุบโลหะ เครื่องผลิตน้ำกลั่นสำหรับการชุบโลหะ นายหน้าหรือตัวแทนเพื่อจำหน่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ นายหน้าหรือตัวแทนเพื่อจัดหาผู้ผลิตสินค้าอาหารแปรรูปประเภทเนื้อไก่แช่แข็ง การค้าปลีกเครื่องอัดอากาศ (Turbocharger) สำหรับใช้ในเรื่อขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ การค้าปลีกชิ้นส่วน อะไหล่และอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบกับเครื่องเจียโลหะ การค้าปลีกอะไหล่ ส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้า การค้าส่งระบบของรางรถไฟ อุปกรณ์ ส่วนประกอบและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบรางรถไฟ การค้าส่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งอุปกรณ์เสริมที่ใช้กับแผงวงจรและแผงควบคุม โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศเยอรมัน ญี่ปุ่น และอิตาลี 3. ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาคเอกชน จำนวน 5 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 254 ล้านบาท ได้แก่ บริการจัดหา ติดตั้ง และทดสอบอุปกรณ์โทรคมนาคมเพื่อส่งผ่านข้อมูลด้วยคลื่นวิทยุในเครือข่ายระบบ 3G บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียม บริการออกแบบ จัดซื้อจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการรื้อถอนโครงสร้างของแท่นหลุมผลิตก๊าซธรรมชาติ บริการออกแบบ จัดซื้อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งก่อสร้างและติดตั้งระบบและท่อขนส่งเชื้อเพลิง โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศจีน ฮ่องกง และเวียดนาม
การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น วิทยาการเฉพาะด้านเกี่ยวกับวิศวกรรมรื้อถอนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Decommissioning Engineering) วิทยาการเฉพาะด้านเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องยนต์เรือและลักษณะพิเศษของอะไหล่เทอร์โบชาร์จเจอร์ องค์ความรู้เกี่ยวกับการซ่อมแซมบำรุงรักษามอเตอร์ เครื่องปรับความเร็วรอบมอเตอร์ (Inverter) เครื่องควบคุมความเร็วรอบมอเตอร์ และองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตชิ้นส่วนถุงลมนิรภัย และการใช้เครื่องมืออุปกรณ์การผลิตการทดสอบประสิทธิภาพสินค้าให้ถูกต้องและปลอดภัย รวมทั้งวิทยาการเฉพาะด้านเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมการต่อเรือและสำรวจเรือ
ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน 2560 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงจากเดือนก่อน 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 3ในขณะที่เงินลงทุนลดลง 1,074 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 69 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงจำนวน 6 ราย คิดเป็นอัตราร้อยละ 17 ในขณะที่มีเงินลงทุนลดลง 199 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30 เนื่องจากในเดือนสิงหาคม 2560 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง คือ ธุรกิจบริการรับค้ำประกันหนี้ บริการเป็นศูนย์ออกกำลังกาย (Fitness Center) อนึ่งในเดือนมกราคม–กันยายน 2560 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 220 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 6,310 ล้านบาท ขณะที่ในเดือนมกราคม–กันยายน 2559 คนต่างด้าวได้รับอนุญาต จำนวน 272 ราย และมีเงินลงทุนทั้งสิ้น5,784 ล้านบาท ซึ่งในปี 2559 ทั้งปี (มกราคม - ธันวาคม) คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น352 ราย และมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,443 ล้านบาท