สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปยกนพปฏลเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ (จำลอง) ณ พระลานพระราชวังดุสิต โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธี
พระเมรุมาศ (จำลอง) แห่งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชานุญาตให้รัฐบาลจัดสร้างขึ้น
โดยทรงให้ออกแบบอย่างงดงามและสมพระเกียรติเช่นเดียวกับพระเมรุมาศจริง ด้วยทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระบรมชนกนาถ ที่ทรงห่วงใยประชาชนชาวไทยและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนชาวไทยมาตลอดพระชนม์ชีพ จึงทรงปรารถนาที่จะให้ประชาชนชาวไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใด สามารถถวายดอกไม้จันทน์ที่พระเมรุมาศจำลองและซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพ ฯ ต่างจังหวัด และต่างประเทศ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยทุกคนได้ร่วมแสดงความอาลัยรักรวมพลังความดี ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สู่สวรรคาลัย
ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญไฟพระราชทาน
ไปสำหรับไปใช้จุดที่พระเมรุมาศจำลอง และวัดในพื้นที่ต่าง ๆ ร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยและร่วมส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สู่สวรรคาลัย ได้อย่างทั่วถึง ได้มีส่วนร่วมในการส่งเสด็จ ด้วยทรงรับรู้และเข้าพระราชหฤทัยถึงพลังความรัก ความศรัทธาเทิดทูน ความจงรักภักดี และความอาลัยรักของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าที่มีต่อพระองค์เช่นกัน โดยและจัดซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพ ฯ ต่างจังหวัด และต่างประเทศ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยทุกคน โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จัดสร้าง ณ พระลานพระราชวังดุสิต และสี่มุมของทุ่งพระเมรุ (ท้องสนามหลวง) ได้แก่ บริเวณสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (เดิม) ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พระปฐมบรมราชานุสรณ์รัชกาลที่ 1 และสวนนาคราภิรมย์ และในพื้นที่ สี่มุมเมืองของกรุงเทพมหานคร ดังนี้ ทิศเหนือ ที่สนามกีฬากองทัพอากาศ (ธูปะเตมีย์) อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ทิศใต้ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เขตบางนา ทิศตะวันตกที่พุทธมณฑล ถนนพุทธมณฑลสาย 4 อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ทิศตะวันออกที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เขตลาดกระบัง นอกจากนี้ ใน 50 เขตของกรุงเทพมหานครได้จัดซุ้มถวายดอกไม้จันทน์เพิ่มเติมในจุดต่าง ๆ สำหรับต่างจังหวัด ทุกจังหวัด ให้พิจารณาจัดสร้างในสถานที่ที่เหมาะสมและสมพระเกียรติ
สำหรับพระเมรุมาศจำลอง บริเวณพระลานพระราชวังดุสิต เป็นพระเมรุมาศจำลองเพียงองค์เดียว ที่ประดับนพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตรขาว 9 ชั้น ขณะที่พระเมรุมาศจำลองอีก 84 องค์ทั่วประเทศ จะประดับนพปฎลสุวรรณฉัตร หรือ ฉัตรทอง 9 ชั้น ด้านการออกแบบได้จำลองโครงสร้างจากบุษบกประธานของพระเมรุมาศขนาดจริง มีองค์ประกอบที่สำคัญตั้งแต่ ส่วนพื้นมีราวบันได คันทวย บัวปลายเสา ส่วนยอดบุษบกมีซุ้มบันแถลง บัวกลุ่ม และส่วนยอดสุด ประดับนพปฎลเศวตฉัตร สองฝั่งของพระเมรุมาศจำลอง จะประดับพระวิสูตร หรือผ้าม่าน บริเวณกึ่งกลางประดับพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งสร้างจากไม้สักทองเพียงแห่งเดียว ขนาดกว้าง 2.5 คูณ 3.3 เมตร ขณะที่พระเมรุมาศจำลององค์อื่นๆ สร้างจากไม้ทาสีทอง ส่วนภาพจิตรกรรมที่พื้นหลังพระเมรุมาศจำลอง จิตรกรวาดและลงสีจริง ขณะที่องค์อื่นๆ เป็นภาพพิมพ์บนวัสดุไวนิล เช่นเดียวกับ การเขียนลายใบฝ้ายเทศ ที่ใช้การเขียนลายสด โทนสีหลักที่ใช้ในงานก่อสร้าง คือ สีเหลืองทอง ก่อสร้างบนพื้นที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 16 เมตร สูงจากพื้น 45 เซนติเมตร มีขั้นบันไดที่ไม่สูงมากนักเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเดินขึ้นไปวางดอกไม้จันทน์ได้