↵
กระทรวงอุตสาหกรรมดันผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมสู่การเป็นต้นแบบอัจฉริยะ หรือ Mind star 2023 มุ่งยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมท้องถิ่น 120 กิจการทั่วประเทศ ให้เป็นผู้ประกอบการยุคใหม่
(2 พ.ย.66) นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดกิจกรรม“พัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมสู่ต้นแบบอัจฉริยะ”หรือ Mind star 2023 โดยมีผู้ประกอบการยุคใหม่ ชลบุรี-ระยอง กว่า 150 คน เข้าร่วมในการอบรม ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่ทันสมัยในการผลิต และแปรรูปผลิตภัณฑ์/สินค้าเกษต ครั้งนี้ ณ โรงแรมโรงแรม เคปราชา ต. ศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
.
สำหรับกิจกรรม “พัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมสู่ต้นแบบอัจฉริยะ” หรือ MIND Star 2023 มีเป้าหมายเบื้องต้น ที่จะพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมต้นแบบอัจฉริยะจำนวนทั้งสิ้น 120 กิจการทั่วประเทศ ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้มีการประเมินพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยมีแผนจัดอบรมอย่างเข้มข้นใน 4 พื้นที่ เป็นระยะเวลา 3 วัน ได้แก่ จังหวัดชลบุรี, จังหวัดนครศรีธรรมราช, จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดลำพูน หลังเสร็จสิ้นการอบรมในภาพรวมแล้ว จะคัดเลือกผู้ประกอบการ 20 กิจการ จาก 120 กิจการ เพื่อยกระดับสู่การเป็นต้นแบบอัจฉริยะ โดยทั้ง 20 กิจการ จะได้รับคำแนะนำและคำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง จากที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาศักยภาพสู่การเป็นต้นแบบอัจฉริยะ นอกจากนี้ จะคัดเลือกผู้ประกอบการจำนวน 4 กิจการเป็นต้นแบบอัจฉริยะ ซึ่งจะได้รับการฝึกสอน (Coaching) ณ สถานประกอบการของผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การต่อยอดทางธุรกิจ อาทิ การจับคู่ธุรกิจ การปรับโมเดลธุรกิจ การถ่ายทอดความสําเร็จทางธุรกิจ การเสนอไอเดียทางธุรกิจ เป็นต้น
โดย กิจกรรมดังกล่าวจะคัดเลือกผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม อาทิ วิสาหกิจขนาดย่อม หรือวิสาหกิจขนาดกลาง หรือ ผู้ประกอบการที่สนใจในกลุ่มเกษตรแปรรูป เกษตรอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรหรือ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร หรืออุตสาหกรรมต่อยอดซัพพลายเชน หรืออุตสาหกรรมสนับสนุนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากทั้ง 4 พื้นที่ทั่วประเทศ เข้าร่วมรับการอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่ทันสมัยในการผลิต และแปรรูปผลิตภัณฑ์/สินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ผ่านการออกแบบหลักสูตรที่จะสร้างโมเดลทางธุรกิจ ใน 2รายวิชาหลัก คือ การจัดทำโมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Business Model Canvas in Marketing Plan), โมเดลการส่งมอบคุณค่าทางธุรกิจ (Value Propositions) และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เชิงเกษตร (Commercializing Creativity) เพื่อให้ผู้ประกอบการเรียนรู้เกี่ยวกับแนวโน้มเชิงพาณิชย์ ของการเกษตรสร้างมูลค่า ตลอดจนองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่จะนำไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์/สินค้าเกษตรขั้นสูงที่มีคุณค่าเฉพาะ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโดยเฉพาะตลาดที่มีมูลค่าสูง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในระดับสากลได้อย่างมีศักยภาพ