จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เบรกการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย 4 บาท/กก. โดยมีมติเห็นชอบ ตามที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเรียกประชุมด่วน และมีมติกำหนดให้น้ำตาลทรายกลับมาเป็น “สินค้าควบคุม” ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 โดยกำหนดราคาจำหน่ายหน้าโรงงาน น้ำตาลทรายขาว 19 บาท/กก. และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 20 บาท/กก. และควบคุมราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาว 24 บาท/กก. และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 25 บาท/กก. พร้อมควบคุมการส่งออกน้ำตาลทรายตั้งแต่ 1 ตัน หรือ 1,000 กก.ขึ้นไป แต่น้ำตาลทรายก็เริ่มขาดตลาดแล้ว หลายจังหวัดทั่วทุกภาคพบว่า ห้างค้าปลีกหลายแห่งเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลทราย บางห้างยังมีขาย แต่จำกัดการซื้อ โดยเฉพาะภาคอีสาน และภาคใต้ เนื่องจากตั้งแต่มีข่าวว่าจะมีการปรับราคาน้ำตาลทรายขึ้นถึง 4 บาท ทำให้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้านค้า ประชาชนทั่วไปต่างแห่ไปซื้อน้ำตาลทรายไปตุนไว้จำนวนมาก ทำให้หลายห้าง ร้านค้าส่ง และค้าปลีกน้ำตาลหมดลงอย่างรวดเร็ว และเมื่อห้างค้าส่งค้าปลีกโทรไปสอบถามโรงงานน้ำตาลและยี่ปั๊วที่ซื้อกันประจำ เพื่อจะขอซื้อน้ำตาลเพิ่มจากข้อตกลงที่ขายกันปกติ ได้รับการแจ้งว่า ไม่มีน้ำตาลขายเพิ่มให้แล้ว ส่งผลให้ประชาชนในหลายจังหวัดที่ต้องทำอาหาร ทำขนมขายเริ่มได้รับความเดือดร้อน ด้านนายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมชาวไร่อ้อยภาคอีสานเผยว่า น้ำตาลไม่ได้ขาดแคลน โรงงานมีการขายปกติเพราะมีการแบ่งกันไว้แล้วว่าจะต้องนำมาขายตลาดภายในประเทศประมาณ 25 ล้านกระสอบต่อปี ก่อนลอยตัวได้กันน้ำตาลไว้ให้ผู้บริโภคภายในประเทศจนถึงเดือนมกราคม 2567 และโรงงานน้ำตาลจะเปิดหีบฤดูการผลิตปี 2566/2567เดือนธันวาคม 2566 แล้ว แต่มีความเป็นไปได้ว่า ในเมื่อน้ำตาลตลาดภายในประเทศถูก แต่ประเทศเพื่อนบ้านกินน้ำตาลราคาแพงกว่าที่ 28-30 บาท/กก. ดังนั้น อาจจะมีขบวนการที่ซื้อน้ำตาลทรายภายในประเทศแล้วลักลอบนำไปชายแดน เพื่อขายในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐบริเวณด่านชายแดนต้องควบคุมดูแลให้ได้ “การที่ ครม.มีมติตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ให้น้ำตาลทรายกลับมาเป็น ‘สินค้าควบคุม’ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ไม่ปรับราคาตามมติของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ถือเป็นการทำลาย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ถอยหลังเข้าคลอง เวลาราคาน้ำตาลตลาดโลกราคาลง รัฐบาลบอกให้ปล่อยลอยตัวเสรี แต่เวลาน้ำตาลตลาดโลกขึ้นราคารัฐบาลมาควบคุม ตอนนี้ชาวไร่มีต้นทุนค่าปุ๋ย ค่าพลังงาน ทุกอย่างปรับตัวสูงขึ้น แต่กลับไม่ให้ปรับราคาขึ้น แต่เวลาสินค้าที่ใช้วัตถุดิบน้ำตาลขอขึ้นราคาบอกต้นทุนสูง กระทรวงพาณิชย์ยอมให้ปรับราคาขึ้น” นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมชาวไร่อ้อยภาคอีสานกล่าว