รมว.ดีอีมอบ 7 นโยบาย ‘เอ็นที’ ฟื้นธุรกิจหลังคาดรายได้ปี ‘68 สูญกว่า 40,000 ล้านบาท ปัดดันคน ’เพื่อไทย‘ ยกโขยงคุมบอร์ดชุดใหม่ อ้างรายชื่อยังไม่ไฟนอลขอให้ดูที่ผลงาน
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2566 นายประเสริฐ จันทรรวงทองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เปิดเผยหลังจากการมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานแก่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เอ็นที ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) วันนี้ (15 พ.ย.) ว่า ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี และมีการกำกับดูแลหน่วยงานเอ็นที ซึ่งต้องเรียนว่าในปี 2568 หรือในอีก 2 ปีที่จะถึงนี้เป็นปีที่ท้าทาย เนื่องจากการประกอบธุรกิจ และการดำเนินกิจการต่างๆ ของเอ็นที จะมีรายได้ส่วนหนึ่งที่ลดลงถึง 40,000 ล้านบาท
“ดังนั้น เอ็นทีเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ และมีความสำคัญ อีกทั้งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องมีแผนการดำเนินงาน จึงได้เข้าร่วมประชุมบอร์ด และได้มอบนโยบาย 7 เรื่อง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของเอ็นที”นายประเสริฐ กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับนโยบาย 7 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ปรับโครงสร้างองค์กร ให้มีขนาดเหมาะสม และสอดคล้องกับภาวะธุรกิจในปัจจุบัน สืบเนื่องจากเอ็นทีเป็นการควบรวมระหว่าง บมจ. ทีโอที (TOT) และบมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) จึงทำให้มีบุคลากรจำนวนมาก ซึ่งต้องลดบุคลากรลง ขณะนี้เหลือ 12,000 กว่าคน คิดเป็นค่าใช้จ่าย 35% ซึ่งยังสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ไม่เกิน 25%
2.ลดการลงทุนที่มีความซ้ำซ้อน สืบเนื่องจากข้อ 1 ที่การควบรวมรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง เมื่อรวมกันแล้ว จึงอาจต้องลดทั้งการลงทุน ประสิทธิภาพในการดำเนินการต่างๆ เช่น สถานที่ทำงานที่มี 2 แห่ง ถ้าสามารถมาอยู่ร่วมกันได้จะลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
3.การลงทุนในเทคโนโลยี 5G บนคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 6,705.6 ล้านบาท ที่มีปัญหาการใช้คลื่นน้อย จึงได้ฝากประเด็นต่อบอร์ดว่าการลงทุนในคลื่นดังกล่าวต้องมีความคุ้มค่าและมีลูกค้ารองรับเสียก่อน รวมถึงต้องบูรณาการการลงทุนร่วมกับ 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งต้องให้บอร์ดพิจารณาข้อมูลการลงทุนอย่างรอบคอบ และมีแผนธุรกิจชัดเจน
4.ระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ซึ่งเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่รัฐบาลเดิมที่ได้อนุมัติในระบบดังกล่าวไปแล้วประมาณ 6,200 ล้านบาท ซึ่งเอ็นทีควรจะสนับสนุนระบบนี้ต่อเนื่อง ส่งผลให้รัฐประหยัดงบประมาณมากขึ้น จากภาครัฐในหน่วยงานได้ลงทุนในเรื่องนี้จากการตั้งงบประมาณเฉลี่ย 1 หมื่นกว่าล้านบาท ถ้ามีการบริหารจัดการให้มีการจัดซื้อกับเอ็นที จะสามารถสร้างประโยชน์และรายได้ให้กับเอ็นทีมากขึ้น รวมถึงลดค่าใช้จ่ายของรัฐได้ไม่น้อยกว่า 30%
5.ขอให้เอ็นทีเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล เพราะเอ็นทีมีโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างสมบูรณ์ เช่น โครงการเน็ตประชารัฐ ระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ AOC 1441
6.การบริหารทรัพย์สินของเอ็นทีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ เช่น เสา เคเบิ้ลใต้น้ำ อาคารและที่ดินต่างๆ ซึ่งมีมูลค่ารวมเฉลี่ย 2 แสนล้านบาท หากสามารถบริหารทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์ได้แค่ 3% จากทรัพย์สินที่มีอยู่จะทำให้มีรายได้สูงถึง 6 พันล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ก็อยู่ในแผนฟื้นฟูของเอ็นทีที่ได้ดำเนินการอยู่ต่อเนื่อง
7. ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรรหาคณะกรรมการ (บอร์ดเอ็นที) ชุดใหม่ ให้ครบครบองค์ประกอบเดิมอยู่ที่ 13 ท่าน ขณะนี้ได้ลาออกไป 6 ท่าน เหลือ 7 ท่าน ซึ่งระหว่างนี้หากมีนโยบายใหม่ขึ้นมาหรือโครงการใดใดขององค์กร ควรจะรอให้มีการแต่งตั้งบอร์ดให้ครบองค์ประกอบเสียก่อน เพื่อป้องกันข้อครหาการตัดสินใจในการดำเนินงาน
“บอร์ดชุดใหม่ โดยรายชื่อที่กระทรวงการคลังได้ตั้งมาทำให้ไม่มีอุปสรรคในการทำงานของบอร์ด ซึ่งจะไม่เกิดสุญญากาศ ซึ่งรายชื่อขณะนี้มีเข้ามาเกินกว่ากึ่งหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งบอร์ด ซึ่งเข้าใจว่าวันนี้ (15 พ.ย.) มีการพิจารณาก็จะใช้เวลาประมาณไม่เกิน 2 เดือน“ นายประเสริฐ กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวว่า จากกระแสที่มีรายชื่อบอร์ดชุดใหม่ออกมา 7 ท่าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายชื่อจากคนที่อยู่พรรคเพื่อไทย เรื่องนี้โดยรายชื่อยังไม่มีการยืนยัน และเป็นรายชื่อที่ไม่ได้เป็นคนของพรรคเพื่อไทยทั้งหมด และเป็นคนที่มาจากคนนอกก็เยอะ ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการสรรหา และทดสอบคุณสมบัติ อยากให้มองที่ความรู้ความสามารถที่องค์กรจะได้รับมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ในมติ ครม. มาตรา 34 ที่เอ็นทีเป็นบริษัทมหาชน จึงไม่ต้องเข้ากระบวนการตามที่ ครม. กำหนด ดังนั้น กรรมการสรรหาสามารถสรรหากรรมการเข้ามาทดแทนได้เลย โดยที่พิจารณาจากกรรมการที่ยังไม่หมดวาระสามารถดำเนินการได้เลย ส่วนกรรมการที่หมดวาระก็จะเข้าประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งบอร์ดชุดใหม่จะเข้ามาสมทบเร็วสุดน่าจะประมาณ 1-2 เดือนนี้
“คุณสมบัติของกรรมการมีบังคับอยู่แล้ว เพราะคนที่จะเข้ามาเป็นกรรมการได้จะต้องเป็นอิสระและไม่มีตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง ดังนั้น เป็นคุณสมบัติที่ได้ตรวจสอบเรียบร้อยแล้วและอยู่ในขั้นตอนการเข้าบอร์ดในวันนี้และจะดำเนินการต่อไป รวมถึงรายชื่อที่เสนอมาไม่ผ่านคุณสมบัติก็มี“นายประเสริฐกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกระแสข่าวหลุดโผรายชื่อของว่าที่บอร์ดเอ็นทีออกมา 7 รายชื่อ ดังนี้1. นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี2. นายจรัสฤทธิ์ จันทรสุรินทร์ สังกัดพรรคเพื่อไทย3. นายธนวัฒน์ อัมพุนันทน์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที ในสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี4. นายภูริศ ศรสรุทร์ อาจารย์จาก คณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 5. นายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม สังกัดพรรคเพื่อไทย6. นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด7. นายยอดฉัตร ตสาริกา ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม