พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำตามที่กรมชลประทานได้แจ้งเตือน เมื่อวานนี้ว่าจะเพิ่มอัตราการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจาก 2,000 ลบ.ม./วินาที เป็น 2,600 ลบ.ม./วินาที และเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนพระรามหก เป็น 550-600 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง มีผลทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 18 ชุมชน รวม 430 ครัวเรือน ในพื้นที่ 10 สำนักงานเขต ได้แก่ บางซื่อ ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย บางกอกน้อย คลองสาน และราษฎร์บูรณะ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานเขตทั้ง 10 เขตดังกล่าว ประชาสัมพันธ์ข้อมูลน้ำขึ้น-น้ำลงของกรมอุทกศาสตร์ รวมทั้งปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงสู่กรุงเทพมหานคร ให้ประชาชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำทราบเป็นระยะ พร้อมทั้งเตรียมการให้ความให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนในด้านต่างๆ
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ริมตลิ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ รวมระยะทางประมาณ 86 กม. มีแนวคันกั้นน้ำแบบถาวรระดับความสูงตั้งแต่ 2.80-3.50 ม.รทก. ยาว 77กม. และมีช่วงที่ยังไม่มีคันกั้นน้ำถาวรประมาณ 9 กม. โดยบางส่วนเป็นแนวพื้นที่ของเอกชน รวมทั้งเป็นท่าขึ้นลงเรือโดยสาร และเป็นพื้นที่ฟันหลอ มีความยาว 5,527 ม. จำนวน 28 จุด อยู่พื้นที่ฝั่งธนบุรี จำนวน 17 แห่ง ยาว 1,917 ม. และพื้นที่ฝั่งพระนคร จำนวน 11 แห่ง ยาว 3,610 ม. ซึ่งกรุงเทพมหานครได้แก้ไขโดยการเรียงกระสอบทรายเพื่อเป็นคันกันน้ำชั่วคราว ตลอดจนได้จัดทำสะพานไม้ทางเดินชั่วคราว รวมทั้งประชาสัมพันธ์ขอให้ชุมชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมขนย้ายสิ่งของให้อยู่ในที่สูง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูง รวมถึงเฝ้าระวังโรคที่มาจากทางน้ำ โดย กทม. ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และอนามัยไว้ดูแลแล้ว นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมสุขาเคลื่อนที่ เวชภัณฑ์เครื่องยังชีพ ที่พักชั่วคราว และกระสอบทรายเพื่อดูแลประชาชนในจุดที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย
ส่วนแผนการรองรับหากเกิดฝนตกหนักนั้น สำนักการระบายน้ำได้เตรียมความพร้อมทั้งระบบระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมไว้แล้วเช่นกัน โดยในช่วงก่อนเข้าฤดูฝนได้ดำเนินการทำความสะอาดท่อระบายน้ำ และขุดลอกคูคลองทั้งหมด รวมทั้งจัดเก็บผักตบชวา เปิดทางน้ำไหลในคลองต่างๆ ซ่อมบำรุงประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ และบ่อสูบน้ำ จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และหน่วยเบสท์ เพื่อสนับสนุนการทำงานด้วย
สำหรับสถานการณ์น้ำหนุนในเดือน ต.ค.น้ำจะขึ้นสูงสุดในช่วงวันที่ 17-18 ต.ค.60 ที่ระดับ +1.15 ม.รทก. ซึ่งอยู่ในระดับที่แนวคันกั้นน้ำเจ้าพระยาสามารถรองรับได้ อย่างไรก็ตาม จากสภาพภูมิอากาศปัจจุบันพบว่ามีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนล่าง ของประเทศไทย และมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุม ทำให้ช่วงระหว่างวันที่ 12-14 ต.ค.60 จะมีฝนตกต่อเนื่องเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในพื้นที่ กทม. ซึ่งกรุงเทพมหานครจะประชุมร่วมกับกรมชลประทานเพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบต่อไป