ปลัดฯ ณัฐพล รุดตอบโจทย์อีสานตอนบน 1 เยือน โรงงานสุรา เครือไทยเบฟหนองคาย ต้นแบบ BIO Net Zero 2025
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (จังหวัดบึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) โดยมีนางสาวณัฎฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตาสาหกรรม นายเตมีย์ พันธุ์วงค์ราช ผู้อำนวยการกองตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุรศักดิ์ จันทร์ชุม อุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย นายทินวัฒน์ แก้วสวี ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางเปมิกา ปาลวัฒน์ นักวิชาการอุตสาหกรรมชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมลงพื้นที่ และมีนายธนู พรหมรังษี ผู้จัดการโรงงานอาวุโส ให้การต้อนรับ สืบเนื่องจากการประชุมเตรียมการการประชุม ครม. ร่วมกับหน่วยงานเอกชน และผู้ประกอบการ ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (จังหวัดบึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 (DIPROM Center 4) จังหวัดอุดรธานี โดยมีตัวแทนภาคเอกชนของจังหวัดหนองคายเสนอความต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Industry) ในพื้นที่ จึงนำคณะฯ ตรวจเยี่ยมบริษัท เทพอรุโณทัย จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 99 หมู่ที่ 4 ถนนหนองคาย-โพนพิสัย ตำบลหาดคำ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ประกอบกิจการการต้ม การกลั่น และการผสมสุรา และการผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นโรงงานในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (ThaiBev) โดยได้รับคัดเลือกจากกลุ่ม ThaiBev ให้เป็นบริษัทนำร่องเพื่อเป็นโรงงานสุราต้นแบบด้านการมุ่งสู่เป็นกลางทางคาร์บอน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2025 ทางบริษัทฯ มีการดำเนินการผลิตไบโอแก๊สจากน้ำเสีย (น้ำกากส่า) ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาของหม้อไอน้ำ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากไบโอแก๊ส 0.6 MW เพื่อใช้ในโรงงาน การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาโรงงาน ผลิตไฟฟ้า 0.54 MW เพื่อใช้เองในโรงงาน และมีแผนการดำเนินงาน คือ การแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เกิดจากกระบวนการหมัก/กลั่น เหล้า เพื่อนำ CO2 ไปใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรม การแยกก๊าซไฮโดรเจน (H2) จากก๊าซมีเทน (CH4) ที่เป็นก๊าซองค์ประกอบหลักในไบโอก๊าซ ผลิตเป็นก๊าซไฮโดรเจน ใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมและการขนส่งต่อไป บริษัทฯ ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับ 4 (Green Industry) โดยภาพรวมมีการนำน้ำกากส่าไปบำบัดแล้วนำกลับมาใช้เป็นปุ๋ยรดน้ำต้นไม้ภายในโรงงาน พร้อมแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อใช้รดน้ำต้นไม้อีกทั้งใช้พลังงานสะอาดกับการขนส่งของโรงงาน โดยใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นการตอบโจทย์การอยู่ร่วมกันระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมกับชุมชนได้ครบทั้ง 4 มิติ ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม