จากกรณีพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงปปช.ให้ตรวจสอบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างระบบจัดการเทียบตู้เรือสินค้า หรือ CTMS ที่เกิดปัญหาขึ้นในระหว่างการทดลองใช้ระบบ มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพัฒนาระบบการขนถ่ายสินค้าให้เป็นแบบ E-PORT โดยหลังจากตรวจรับงานไปแล้ว เกิดปัญหาขัดข้องของระบบ และมีการเบิกงบทำการเพื่อจัดซื้อจัดจ้าง โดยมีการอ้างถึงการพัฒนาต่อยอดระบบ และใช้งบทำการ จัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ โดยระบบปฏิบัติการดังกล่าวจะถูกนำมาเริ่มใช้ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้เป็นวันแรก จนกลายเป็นความวิตกกังวลเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการดังกล่าว ที่ยังคงมีเรื่องร้องเรียนค้างอยู่แต่กำลังจะถูกเริ่มใช้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และตั้งข้อสังเกตุว่า การใช้ระบบปฏิบัติการ CTMS อาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบการนำเข้าและส่งออกสินค้า เนื่องจาก เป็นระบบใหม่ รวมถึงเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างที่ยังคงเป็นปัญหาและอาจยังมีความไม่ชัดเจน
ทีมข่าว อปท.นิวส์ ได้ติดตามสอบถามรายละเอียดเรื่องที่เกิดขึ้นไปทาง “อดีตผู้บริหารการท่าเรือ” ซึ่งเปิดเผยถึงระบบปฏิบัติการดังกล่าวว่า “ระบบบ CTMS เป็นหนึ่งในระบบปฏิบัติการรวมที่เชื่อมโยงกับระบบต่างๆที่นำไปสู่ระบบปฏิบัติการรวมเรียกว่า E-PORT แยกเป็น ระบบ E-GATE หรือระบบประตูตรวจสอบอัตโนมัติ ระบบ CTMS ระบบจัดการท่าเทียบเรือตู้สินค้า ระบบ ERP ระบบตรวจสอบบัญชีภายใน และระบบ VCMS ระบบจัดการเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องทุ่นแรง สินค้าและบิลลิ่ง ที่จะไปเชื่อมโยงกับระบบของกรมศุลกากร
ส่วนที่เป็นปัญหามีการร้องเรียนกัน คือระบบ CTMS (Container Terminal. Management System) ที่เดิมการท่าเรือฯ ได้จัดซื้อเป็น CTMS catos ของประเทศเกาหลี โดยซื้อมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว (เริ่มทดลองใช้ปี 53 และใช้จริงปี 55) ก่อนจะมาทำการเช่าเป็นระบบ CTMS navis (เวอร์ชั่น n 4) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่จะถูกนำมาเริ่มใช้ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้
จากการเข้าสัมภาษณ์ของทีมข่าว อปท.นิวส์ พบปัญหาคือเรื่องการโยนย้ายข้อมูล หรือ Data Migration จากระบบ CTMS ตัวเก่าของเกาหลีที่ชื่อ CATOS มายังระบบใหม่ของอเมริกาที่ชื่อ NAVIS ข้อมูลบางส่วนมาไม่ครบ เลยทำให้ต้องมากรอกมือหน้างาน เพื่อแก้ปัญหาให้ครบ และยังมีเรื่องสัญญาน WiFi ที่อ่อนในหลายจุดจนทำให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ที่ใช้ App ควบคุมไม่ทั่วถึง ระบบเลยทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อนอุปกรณ์ผิดพลาดและไม่ทันท้วงทีครับ
ปัญหาการร้องเรียนไปยังปปช.และอีกหลายๆ หน่วยงานที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับระบบ CTMS catos ซึ่งใช้งานไม่ได้ตามกำหนด และกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยมีการตั้งข้อสังเกตุและกลายเป็นคำถามที่ว่า ว่า เพียงช่วงเวลาไม่กี่ปี ก็จะมีการจัดเช่า CTMS navis (เวอร์ชั่น n 4) มาทดแทน ที่เหมือนกับมีความพยายามจะกลบเกลื่อนปัญหาเดิม ที่ยังใช้งานได้ไม่ถูกต้อง แล้วเอาตัวใหม่ มากลบเกลื่อนการทำลายหลักฐานหรือไม่
“เดิมการท่าเรือได้จัดซื้อระบบ CTMS catos จากเกาหลี มาโดยใช้งบประมาณ 100 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดซื้อที่ได้ทั้งซอฟแวร์และฮาร์ดแวร์ (ได้ทั้งระบบปฏิบัติการและเครื่องมือ) แต่ CTMS n 4 ที่จะนำมาใช้มรครั้งนี้จะเป็นเพียงการเช่าในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งได้เพียงระบบปฏิบัติเท่านั้น ไม่ได้เครื่องมือที่เรียกว่า ฮาร์ดแวร์แต่อย่างใด รวมถึงเป็นการเช่าที่มีมูลค่าสูงถึง 300 ล้านบาท” อดีตผู้บริหารการท่าเรือฯ กล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวพนักงานในการท่าเรือฯ ซึ่งเป็นบุคลากรระดับปฏิบัติการ เปิดเผยว่า “การท่าเรือฯ ยกเลิกการใช้ CTMS catos และจะใช้ระบบ CTMS n 4 ทันทีในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ ทั้งๆ ที่เรื่องของการจัดซื้อยังคงมีปัญหาร้องเรียนไปยัง คณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และได้มีเอกสารจากทาง ปปช.ขอให้การท่าเรือ ชี้แจง (เลขรับ ปช.0019/1127) รวมถึงมีการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อีกด้วย แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้มีความชัดเจนแต่อย่างใด
ดังนั้นการนำเอาระบบใหม่ (CTMS n 4 ) มาใช้ จึงมีการตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับเหตุผลที่นำมาใช้ทดแทนระบบเดิม รวมถึงเหตุผลในการเช่า ว่าเหมาะสมมากน้อยเพียงใด และอาจเป็นการสุ่มเสี่ยงกับการใช้ระบบใหม่ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายอย่างร้ายแรงในการปฏิบัติงาน” แหล่งข่าวกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ “อดีตผู้บริหารการท่าเรือฯ” กล่าวเพิ่มเติมว่า “เรื่องนี้เป็นความกังวลของหลายฝ่าย โดยเฉพาะในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ที่จะเป็นการใช้ระบบ CTMS n 4 ครั้งแรก โดยไม่มีการรันระบบร่วมกับระบบเดิม หรือ ทดสอบระบบเพื่อความมั่นใจ
“อย่างที่กล่าวไปแล้วระบบ CTMS เป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการตู้สินค้า และต้องเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆ รวมทั้งระบบจาก กรมศุลกากร การนำมาใช้โดยไม่ได้มีการตรวจสอบ รวมไปถึงเรื่องของการตั้งข้อสังเกตุถึงการจัดเช่าแทนการจัดซื้อ และปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบเก่า ที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ อาจเป็นการเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายที่จะตามมา เพราะระบบนี้เกี่ยวพันโดยตรงกับการนำเข้าส่งออกสินค้าของท่าเรือทั่วประเทศ” อดีตผู้บริหารการท่าเรือกล่าว
นอกจากการตั้งข้อสังเกตุดังกล่าวแล้ว พนักงานระดับปฏิบัติการ รวมถึงสหภาพแรงงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ยังได้เสนอให้ผู้บริหารการท่าเรือฯ มีการตรวจสอบการจัดซื้อจัดเช่าทั้งหมดอีกครั้ง รวมถึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจนโปร่งใส เพราะการจะนำระบบใหม่มาใช้ เป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายลุกลามไปถึงระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ