นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้ารถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงิน 179,412 ล้านบาท ปัจจุบันลงนามสัญญา 2.1 ค่าที่ปรึกษาโครงการ (ออกแบบการก่อสร้าง) และ 2.2 ค่าจ้างผู้ควบคุมงานทั้งการก่อสร้างและระบบรถเรียบร้อยแล้ว เหลือสัญญาที่ 2.3 ระบบเหนือโครงสร้างพื้นฐาน อยู่ในระหว่างการเจรจา โดยให้จีนส่งแบบรายละเอียดการก่อสร้างช่วงที่ 1 ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรภายในเดือน ต.ค.นี้ ส่วนที่เหลือให้ส่งมาภายใน 6 เดือน
ทั้งนี้การก่อสร้างจะเริ่มต้นได้ต่อเมื่อรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอได้รับอนุมัติ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) กระทรวงทรัพยากรและธรรมชาติ
เนื่องจาก คชก.ให้กลับไปทำข้อมูลเพิ่มเติมจากเหมืองปูนซีเมนส์ที่อยู่ในเส้นทางรถไฟไทย-จีนพาดผ่าน หลังจากนั้นจะเตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม จะพยายามให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.60 และได้เรียนทางจีนไปแล้วว่ารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะต้องผ่านถึงจะสามารถเริ่มต้นก่อสร้างได้
“ในการทำงานไม่มีอุปสรรค ยังอยู่ในขั้นตอน ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกใบอนุญาตวิศวกรและสถาปนิกจีนที่ผ่านการทดสอบแล้ว ถึงจะลงนามสัญญาการออกแบบ โดยช่วงที่ 1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร จะเริ่มส่งแบบตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.60 ตอนที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กิโลเมตร ตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 119.5 กิโลเมตร ตอนที่ 4 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 119.5 กิโลเมตร จีนจะใช้เวลาในการส่งออกแบบ 6-8 เดือน” นายอาคมกล่าว
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 252.5 กม. มูลค่า 179,412.21 ล้านบาทด้วยว่า การก่อสร้างช่วงแรกกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 3.5 กม. ต้องเลื่อนการก่อสร้างที่เดิมกำหนดไว้ภายในเดือน พ.ย.ออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังจากที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ยังไม่ผ่านการพิจารณา ผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากยังมีบางพื้นที่ ที่จะต้องมีการทำรายละเอียดเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ คณะทำงานของโครงการฯ จะเร่งจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม และส่งเรื่องมาให้ สนข. พิจารณาอีกครั้ง และยังไม่มีกรอบระยะเวลากำหนด จากนั้นจะส่งต่อไปที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ สผ.พิจารณา ซึ่งจะใช้เวลา 15 วันในการพิจารณา ทั้งนี้ จุดที่มีปัญหาเรื่อง EIA คือบริเวณเหมืองแร่ และโรงปูน ที่จังหวัดสระบุรี จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามกรอบเวลาเดิมที่กรมทางหลวง หรือ ทล. อาจจะทำให้การเริ่มก่อสร้างล่าช้าออกไป ส่วนจะมีการนำเอา ม.44 มาใช้หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. กล่าวว่า ในร็วๆ จะเสนอเรื่องการมอบหมายให้กรมทางหลวงดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงแรก ระยะทาง 3.5 กม. วงเงิน 425 ล้านบาท ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนส่งต่อไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
สำหรับการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมาได้รับทราบถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรไฟทางคู่ทั้ง 5 เส้นทาง 9 สัญญา ได้แก่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน, หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์, ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร, ลพบุรี-ปากน้ำโพ, มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ รวมถึงการปรับเพิ่มวงเงินการปรับแบบการก่อสร้างช่วง กะเบา-ถนนจิระ สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ เพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท ไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว คาดภายใน พ.ย.-ธ.ค.นี้ จะเริ่มก่อสร้างได้
"หลังจากนี้จะเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และซูเปอร์บอร์ด ให้อนุมัติตัวผู้รับจ้างเพื่อความรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถคาดลงนามสัญญา ได้ ภายในต้นเดือน พ.ย.จากเดิมที่กำหนดไว้ในเดือน ต.ค. และเริ่มก่อสร้างได้ภายใน พ.ย.-ธ.ค.นี้" นายอานนท์กล่าว.