โฆษกกระทรวงพาณิชย์ (นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์) เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) ได้ให้ความสำคัญและดำเนินนโยบายเชิงรุก เพื่อดูแลราคาสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง เน้นการบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทานด้วยการใช้ตลาดนำการผลิต รวมทั้งแปรรูปเพื่อ สร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งได้จัดทำแผนงานดูแลสินค้าเกษตรสำคัญ โดยมีการเตรียมความพร้อมรับมือผลผลิตทางการเกษตรที่จะออกสู่ตลาดทั้งข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา โดย ในแต่ละแหล่งผลิตจะมีพาณิชย์จังหวัดเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับข้าวซึ่งกำลังจะออกสู่ตลาดในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ มีผลผลิตในปี 2560/61 ประมาณ 28.81 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 9.88 ราคาข้าวเปลือกเฉลี่ย ณ วันที่ 2 พ.ย. 2560 ข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 12,900 บาท ข้าวเหนียว 10% เมล็ดยาว 9,150 บาท ข้าวเจ้า 5% 7,550 บาท ข้าวปทุมธานี 8,900 บาท โดยข้าวหอมมะลิและข้าวปทุมธานี มีราคาปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนราคาข้าวชนิดอื่นที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย อาทิ ข้าวเหนียว เนื่องจากยังมีสต็อกข้าวของปีก่อนอยู่มาก สำหรับข้าวเจ้า เนื่องจากบางพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม
กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดแนวทางและมาตรการด้านการตลาดช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2560/61 เพื่อดูดซับผลผลิตส่วนเกินในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากซึ่งจะช่วยให้ระดับราคาข้าวเปลือกให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม อาทิ
- จัดทำแอพพลิเคชั่น (Application) จองรถเกี่ยวร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อจัดหารถเกี่ยวให้เกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมามาก ช่วยให้ชาวนาเกี่ยวข้าวได้ครบอายุตามพันธุ์ ได้ข้าวคุณภาพดีขายได้ราคาดี
- ให้สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ให้เก็บข้าวเปลือกเข้ายุ้งฉางรอราคาดีแล้วค่อยขายเพื่อไม่ให้ราคาลดลงในช่วงผลผลิตออกมากและค่าฝากเก็บ 1,500บาท/ตัน
- ช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ให้เกษตรกรไร่ละ 1,200 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ หรือ ไม่เกิน 12,000 บาท/ครัวเรือน
-ให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมหรือแปรรูปข้าวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1
- ชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
นอกจากนั้น ยังกำหนดจัดตลาดนัดข้าวเปลือกให้เกษตรกรมีทางเลือกในการขาย ในช่วง 1 ต.ค. 60 – 30 ก.ย. 61 โดยดูแลเกษตรกรให้ความเป็นธรรมด้านราคาและการหักลดน้ำหนักจากการวัดความชื้น
สำหรับการส่งเสริมข้าวอินทรีย์ กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการเชื่อมโยงการตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP สนับสนุนค่าตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จัดสรรโควตาส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป (EU) และให้ความช่วยเหลือด้านการเงินให้เกษตรกร
โฆษกกระทรวงพาณิชย์ ยังย้ำว่า มาตรการช่วยเหลือด้านการตลาดเชิงรุกที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ส่งผลให้ราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมการตลาดควบคู่ไปด้วย โดยในระหว่างวันที่ 31 ต.ค. – 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้เชิญผู้ซื้อข้าวจากทั่วโลกจาก 25ประเทศ มาเจรจาซื้อขายข้าว ส่งผลให้มีการขยายลู่ทางการส่งออกสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวของไทยสู่ตลาดโลกให้ได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ผลการเจรจาดังกล่าวก่อให้เกิดมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 83,290,975 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,748,602,175 บาท และคาดการณ์ภายใน 1 ปี จะมีมูลค่าการซื้อขายกว่า 30,000 ล้านบาท