ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
พาณิชย์ดันอาหารไทย-ซี่รี่วายซ์โกยเงินที่ญี่ปุ่น
31 ธ.ค. 2566

นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ 3 แห่งในประเทศญี่ปุ่น ตั้งเป้าผลักดันการส่งออกในปี 2567 ว่าจะขยายตัว ที่ 1%

โดยได้ตั้งเป้านำเสนอสินค้าศักยภาพจากประเทศไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น อย่างเต็มที่ เพื่อให้การส่งออกมีการเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยปัจจัยบวกที่สำคัญจากการที่เศรษฐกิจและค่าเงินของญี่ปุ่นในปี 2567 อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นจากปี 2566 ด้วยภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนค่าเงินเยนของญี่ปุ่น แม้ว่าในปี 2566 จะอ่อนตัวที่สุดในรอบ 27 ปี สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐ ทำให้นักลงทุนต่างเทขายเงินเยนไปซื้อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแทน แต่แนวโน้มในปี 2567 มีการคาดการณ์ว่า ค่าเงินเยนจะปรับตัวแข็งขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดจะไม่อ่อนค่าลงไปมากกว่านี้ ขณะเดียวกันกำลังซื้อในประเทศน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากที่รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมจะเพิ่มค่าแรงในรอบ 30 ปี และปรับฐานเงินเดือนชาวญี่ปุ่นให้สูงขึ้นกว่าเดิม

สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกนั้น ทางสำนักงานได้แบ่งออกเป็น กลุ่มแรกผลไม้ไทย โดยเน้นกลุ่มผลไม้ที่ไทยได้รับสิทธิประโยชน์จาก FTA ที่มีระหว่างกันอยู่ อย่างเช่น กล้วย ซึ่งประเทศไทยได้รับการยกเว้นภาษีเป็นจำนวน 8,000 ตัน ภายใต้กรอบ JTEPA

ซึ่งทางสำนักงานโตเกียวได้นำคณะผู้นำเข้าชาวญี่ปุ่นไปทำสัญญาสั่งซื้อกล้วยหอมจากอำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา 5,000 ตัน มูลค่า 100 ล้านบาท เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 สำหรับปี 2567 ตั้งเป้าจะผลักดันการส่งออกผลไม้อื่น ๆ อาทิ กล้วยไข่ มังคุด และสับปะรดภูแล

สินค้ากลุ่มที่สอง คือ ซีรีส์วาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งใน Soft Power ของไทยที่ได้รับความนิยมจากชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก โดยจากข้อมูลที่มีพบว่ามีชาวญี่ปุ่นที่ชื่นชอบคอนเทนต์กลุ่มดังกล่าวอยู่ประมาณ 680,000 คน และมีการจับจ่ายใช้สอยทุกอย่างที่เกี่ยวกับคอนเทนต์ดังกล่าวเฉลี่ยอยู่ที่ 120,000 เยนต่อปี สะท้อนถึงขนาดตลาดที่มีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งทางสำนักงานโตเกียวได้จัดกิจกรรม Business Networking ระหว่างผู้ผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วาย เมื่อวันที่ 24-25 ต.ค. 2566 ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้ถึง 738 ล้านบาท โดยในปีหน้านี้ ทางสำนักงานตั้งเป้าจัดกิจกรรมนำเสนอขายคอนเทนต์ดังกล่าวเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมเพื่อนำสินค้าไทยเจาะกลุ่มแฟนคลับชาวญี่ปุ่นโดยตรง ขณะเดียวกัน Soft Power ที่มีศักยภาพสูงอีกอย่างคือ อาหารไทย ซึ่งทั้ง 3 สำนักงานพาณิชย์ในประเทศญี่ปุ่นจะร่วมกันผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ภายใต้ “Thai Select” ตราสัญลักษณ์ที่รับรองโดยกระทรวงพาณิชย์ มอบให้แก่ร้านอาหารรสชาติไทยแท้ในตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งในการจำหน่ายวัตถุดิบอาหารไทยไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น

“คอนเซ็ปต์ Thai Select เหมาะสมกับตลาดญี่ปุ่นมาก เพราะชาวญี่ปุ่นนิยมการตามไปทานอาหารตามที่มีการแนะนำ ซึ่งทางสำนักงานในประเทศญี่ปุ่นก็เตรียมแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการทานอาหารในร้าน Thai Select ทั่วประเทศด้วย เช่น ทานแล้วสามารถชิงโชค ชิงรางวัลท่องเที่ยวไทยได้ เป็นต้น”

นอกจากนี้ สินค้าไทยที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น สินค้าสัตว์เลี้ยง เครื่องสำอางสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย กลุ่มอาหารแห่งอนาคต และสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ก็นับเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมและมีความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง

โดยช่องทางการจำหน่ายสินค้าไทยทั้งในรูปแบบ B2B ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศในประเทศญี่ปุ่น มีกำหนดนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งจัดเป็นคณะผู้แทนการค้าสำหรับสินค้าเฉพาะ และช่องทางการจำหน่ายสินค้าในแบบ B2C สู่ผู้บริโภคโดยตรง ผ่านการจัดกิจกรรมในรูปแบบ In-store Promotion การทำกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยร่วมกับห้างสรรพสินค้า หรือซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ พร้อมกันนี้ในปีหน้า จะเพิ่มช่องทางพิเศษสำหรับทำตลาดสินค้าไทยเพิ่มขึ้น โดยการเปิดหน้าร้านขายสินค้า “TOPTHAI” ของกรมบนแพลตฟอร์ม Rakuten ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์อันดับหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจากการทดลองขายเป็นเวลา 3 เดือนนั้น หน้าร้านดังกล่าวสามารถสร้างยอดขายสินค้าไทยได้ถึง 132 ล้านเยน ซึ่งคาดว่าเมื่อเปิดหน้าร้าน TOPTHAI เพื่อจำหน่ายสินค้าไทยเป็นการถาวรแล้ว จะสามารถเป็นช่องทางที่สามารถสร้างยอดขายให้สินค้าไทยได้ไม่น้อยกว่า 500 ล้านเยน/ปี หรือประมาณ 125 ล้านบาท/ปี สำหรับการส่งออกไทยไปญี่ปุ่นช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2566 มูลค่า 20,832.65 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 0.02% ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าหากเป็นสินค้าปัจจัยสำหรับโรงงานญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะเติบโตได้ดี อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ขยายตัว 9.83% แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัว 70.19% เครื่องจักรกล ขยายตัว 2.05% เป็นต้น แต่ถ้าเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภคโดยตรง ส่วนใหญ่จะเติบโตได้ไม่ดีนัก และมีหลายรายการติดลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าไก่แปรรูป ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่สองของไทยในตลาดญี่ปุ่น ก็มีการเติบโตในปีนี้ลดลง 7.40%

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...