“ร.ต.ทรงธรรม” ยอมรับยื่นใบลาออกแล้ว หลังหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับการทดลองใช้ระบบปฏิบัติการตู้ขนส่งสินค้าระบบใหม่ CTMS n 4 แล้วเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่เจ้าตัวปฏิเสธ ย้ำลาออกเพราะปัญหาสุขภาพ เผยแจ้งบอร์ด-ผู้บริหารกระทรวงคมนาคมแล้ว
โดย ร.ต.ทรงธรรม จันทประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการ กทท. เปิดเผยถึงการยื่นหนังสือลาออกดังกล่าว โดยยอมรับว่า ได้ยื่นหนังสือลาออกไปแล้วจริง และตอนนี้เรื่องอยู่ที่ทางคณะกรรมการฯ สำหรับปัญหาการลาออกนั้นเป็นปัญหาของเรื่องสุขภาพ ไม่ได้มีเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนจะมีผลเมื่อไหร่นั้นอยู่ที่มติของคณะกรรมการฯ โดยได้แจ้งเป็นการส่วนตัวให้ประธานคณะกรรมการฯ และแจ้งไปยังผู้บริหารกระทรวงคมนาคมต้นสังกัดรับทราบแล้ว โดยรอบแรกได้ยื่นไปเมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา ให้มีผลในวันที่ 2 ตุลาคม เพราะต้องการเปิดทางให้คณะกรรมการฯ มีเวลาในการสรรหารักษาการณ์ผู้อำนวยการคนใหม่ โดยตนจะเกษียณในเดือนตุลาคม 2561 นี้ ร.ต.ทรงธรรม กล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้เพิ่งทดสอบการใช้ระบบปฏิบัติการขนถ่ายตู้สินค้า CTMS navis (เวอร์ชั่น n 4) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการจัดซื้อในระบบใหม่เข้ามาทดแทนระบบเดิมคือ CTMS catos จากประเทศเกาหลีใต้ ไปเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา แต่มีการตั้งข้อสังเกตุว่าเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบการนำเข้าและส่งออกสินค้า เนื่องจากเป็นระบบใหม่ รวมถึงเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างก็ยังคงเป็นปัญหา คืออยู่ในลักษณะการเช่า ที่มีระยะเวลาเพียง 3 ปี มูลค่าสูงถึง 300 ล้านบาท และยังเป็นเพียงระบบปฏิบัติเท่านั้น ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่เรียกว่าฮาร์ดแวร์แต่อย่างใด ขณะที่การจัดซื้อระบบ CTMS catos จากเกาหลีใต้เดิมใช้งบประมาณแค่ 100 กว่าล้านบาท ได้ทั้งซอฟแวร์และฮาร์ดแวร์
“ดังนั้นการนำเอาระบบใหม่ (CTMS n 4 ) มาใช้ จึงมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเหตุผลที่นำมาใช้ทดแทนระบบเดิม รวมถึงเหตุผลในการเช่าว่าเหมาะสมมากน้อยเพียงใด และอาจเป็นการสุ่มเสี่ยงกับการใช้ระบบใหม่ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายอย่างร้ายแรงในการปฏิบัติงาน” แหล่งข่าวกล่าว
นอกจากนี้ ระบบ CTMS เป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการตู้สินค้า และต้องเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆ รวมทั้งระบบจากกรมศุลกากร การนำมาใช้โดยไม่ได้มีการตรวจสอบ รวมไปถึงเรื่องของการตั้งข้อสังเกตถึงการจัดเช่าแทนการจัดซื้อ และปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบเก่า ที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ อาจเป็นการเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายที่จะตามมา เพราะระบบนี้เกี่ยวพันโดยตรงกับการนำเข้าส่งออกสินค้าของท่าเรือทั่วประเทศ
ขณะเดียวกันพนักงานระดับปฏิบัติการ รวมถึงสหภาพแรงงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ยังได้เสนอให้ผู้บริหารการท่าเรือฯ มีการตรวจสอบการจัดซื้อจัดเช่าทั้งหมดอีกครั้ง รวมถึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจนโปร่งใส เพราะการจะนำระบบใหม่มาใช้ เป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายส่งผลกระทบเป็นมูลค่ามหาศาล
นอกจากนี้ ในระบบ CTMS catos ก็มีการร้องเรียนถึงความไม่ชอบมาพากลมาก่อนหน้านี้แล้วเป็นระยะด้วยเช่นกัน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเชื่อว่ามีการทุจริตในโครงการดังกล่าวนี้ประกอบด้วย
มีการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินหลายพันล้านบาท ผู้รับงานทำงานไม่สำเร็จ ระบบใช้งานไม่ได้ตามสัญญา แต่กลับมีการอนุมัติจ่ายเงินค่างวดงาน และคืนหลักประกันสัญญาไปโดยระบบใช้งานไม่ได้ ฝ่ายบริหารสมรู้ร่วมคิดปล่อยให้ผู้รับงานซึ่งทำความเสียหายให้รัฐ ตามข้อ 1. และตกอยู่ในฐานะ “ผู้ทิ้งงาน” มารับงานต่อเนื่อง และมีตัวแทนผู้รับงานเข้ามาเป็นกรรมการ กทท.ทั้งที่ต้องห้ามตามกฎหมาย เป็นต้น แต่เรื่องทั้งหมดก็เงียบไปจนมีการนำ CTMS navis มาใช้ในที่สุด