สคร. จัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินสะสม ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2567 จำนวน 63,680 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36 ของเป้าหมายทั้งปี
ไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 31 ธันวาคม 2566) สคร. สามารถจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินฯ จากผลประกอบการในปี 2566 รวมทั้งสิ้นจำนวน 63,680 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของเป้าหมายการจัดเก็บในปีงบประมาณ 2567
นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2567 สคร. มีเป้าหมายในการจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 (เงินนำส่งรายได้แผ่นดินฯ) จำนวน 175,000 ล้านบาท โดยไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 31 ธันวาคม 2566) สคร. สามารถจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินฯ จากผลประกอบการในปี 2566 รวมทั้งสิ้นจำนวน 63,680 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของเป้าหมายการจัดเก็บในปีงบประมาณ 2567 สูงกว่าประมาณการสะสมจำนวน 6,782 ล้านบาท โดยเงินนำส่งรายได้แผ่นดินส่วนใหญ่มาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินสะสมสูงสุด 10 อันดับแรก ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2567 มีดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
ลำดับที่ รัฐวิสาหกิจ เงินนำส่งรายได้แผ่นดิน
1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 16,841
2 ธนาคารออมสิน 13,144
3 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 11,679
4 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 10,841
5 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 5,287
6 การท่าเรือแห่งประเทศไทย 2,366
7 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 1,468
8 การไฟฟ้านครหลวง 1,000
9 การประปาส่วนภูมิภาค 300
10 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 31
11 อื่นๆ 723
รวม 63,680
หมายเหตุ : ข้อมูลเงินนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลัง โดย สคร. จัดเก็บ ไม่รวมเงินนำส่งรัฐประเภทอื่น เช่น ภาษีหรือค่าธรรมเนียมอื่น ๆ อย่างไรก็ดี สำหรับปีงบประมาณ 2567 สคร. จะกำกับติดตามการนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด โดยจะพิจารณาผลประกอบการ มาตรการของภาครัฐ และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินฯ เป็นไปตามเป้าหมายและเป็นกลไกในการช่วยรักษาเสถียรภาพทางการคลังต่อไป