ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
โอกาสส่วนแบ่งตลาดเกษตรอินทรีย์ไทยในสหรัฐอเมริกา
29 พ.ย. 2560

พาณิชย์ผลักดันสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยชิงส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ รองรับตลาดขยายตัว ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสินค้าเพื่อสุขภาพและปกป้องสิ่งแวดล้อม เผยข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว มะพร้าวและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ธัญพืชและผลไม้อบแห้ง ชาสมุนไพร มีโอกาสสูง แนะผู้ส่งออกจับมือผู้นำเข้าหรือสมาคมผู้จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ดันสินค้าไทยเข้าสู่ตลาด ระบุผลสำรวจล่าสุด น้ำมะพร้าว เครื่องดื่มขมิ้นชัน น้ำผลไม้ ได้รับความนิยมในสหรัฐฯ  

          นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ไทยในสหรัฐฯ ทำการสำรวจโอกาสทางการค้าสำหรับสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเกษตรอินทรีย์ในตลาดสหรัฐฯ โดยพบว่าปัจจุบันสินค้าเกษตรอินทรีย์มีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ การบริโภคสินค้าปลอดสารพิษ การให้ความสำคัญกับการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม และยังพบแนวโน้มใหม่ที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ นิยมสั่งซื้อวัตถุดิบไปทำอาหารบริโภคในบ้าน โดยเน้นวัตถุดิบที่เป็นเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น จากการที่ผู้จำหน่ายรายใหญ่ได้หันมาให้ความสำคัญกับการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ และขยายตัวของการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่ทำให้สามารถสั่งซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ง่ายขึ้

          สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยที่มีโอกาสในการขยายตลาดในสหรัฐฯ ได้แก่ กลุ่มข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น ข้าวหอมมะลิ และขนมขบเคี้ยวทำจากข้าวหอมมะลิ เป็นต้น กลุ่มมะพร้าวและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เช่น น้ำมันมะพร้าว นมพร้อมดื่มจากมะพร้าว กะทิ น้ำมะพร้าว น้ำตาลมะพร้าว และขนมขบเคี้ยวจากมะพร้าว เป็นต้น กลุ่มธัญพืชและผลไม้อบแห้ง เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง และเม็ดมะม่วง-      หิมพานต์อบแห้ง  เนยถั่ว ผักและผลไม้อบแห้ง เป็นต้น และกลุ่มชาสมุนไพร เช่น ชาขิง ชาสะระแหน่         ชาตะไคร้ เป็นต้น

          ส่วนช่องทางการเข้าสู่ตลาด ผู้ส่งออกจะต้องร่วมมือกับผู้นำเข้า หรือสมาคมผู้จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีความเชี่ยวชาญในตลาดผู้บริโภค เพื่อให้สามารถพัฒนาสินค้าได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และแสวงหาผู้จัดจำหน่ายที่มีศักยภาพในเขตพื้นที่ตลาดเป้าหมาย เพื่อให้เป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งผู้ส่งออกสามารถที่จะขอรับคำปรึกษากับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้

          นอกจากนี้ ในการเข้าสู่ตลาดจะต้องศึกษาข้อมูลลักษณะพื้นฐานและความต้องการของกลุ่มลูกค้า    ในตลาดเป้าหมายว่าเป็นอย่างไร เพราะกลุ่มบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐฯ มักจะอยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว มีสมาชิกครอบครัวไม่มาก จึงนิยมเลือกซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์หีบห่อขนาดกะทัดรัด ไม่ใหญ่เกินไป และที่สำคัญจะต้องควบคุมคุณภาพการผลิตให้ตรงตามมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ และมีมาตรฐานตามที่สหรัฐฯ กำหนด เพราะองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ และกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ มีความเข้มงวดอย่างมากในการตรวจสอบอาหารนำเข้าสหรัฐฯ รวมทั้งต้องศึกษาการนำสินค้าเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ในตลาดสหรัฐฯ เพื่อแนะนำสินค้า เช่น งาน Americas Food and Beverage Show และงาน Natural Expo West เป็นต้น 

          นางจันทิรากล่าวว่า ปัจจุบัน สินค้าอินทรีย์ที่ได้รับความนิยมในตลาดสหรัฐฯ และมีศักยภาพในการทำตลาดสูงมาก ก็คือ น้ำมะพร้าว แต่ก็เริ่มมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น ผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทยต้องปรับตัวโดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยอาจจะพิจารณานำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในกระบวนการผลิต เน้นการสร้างเรื่องราวความน่าสนใจให้กับสินค้าเพื่อดึงดูดความสนใจผู้บริโภค ถัดมาเป็นเครื่องดื่มขมิ้นชัน ที่เริ่มได้รับความนิยม เนื่องจากผู้บริโภคเชื่อว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพและบรรเทาอาการอักเสบของร่างกายได้ ซึ่งในการทำตลาด ควรควบคุมคุณภาพไม่ให้มีโลหะหนัก โดยเฉพาะสารตะกั่วเจือปนเกินกำหนด และน้ำผลไม้ทรอปิคอล เช่น น้ำทับทิม    น้ำมังคุด และชาหมัก น้ำผึ้งหมัก ที่มีแนวโน้มและโอกาสทางการตลาดมากขึ้น

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...