ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
เปิดเกณฑ์ฉลากเหล้า-เบียร์แบบใหม่กฏเข้มลดคอดื่ม
25 ก.พ. 2567

ใกล้จะถึงกำหนดปิดการรับฟังความเห็นแล้ว สำหรับ ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. …. ที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกรมควบคุมโรค เปิดรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่ 12-29 กุมภาพันธ์ 2567

และมีความเป็นไปได้สูงที่ร่างประกาศนี้จะได้รับความเห็นชอบและผ่านฉลุย หากพลิกเข้าไปพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า ประเด็นสำคัญของร่างประกาศฉบับนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก และข้อความคำเตือนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า ดังนี้ 1.กำหนดให้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นภาชนะบรรจุต้องมีปริมาณบรรจุสุทธิไม่น้อยกว่า 175 มิลลิลิตร 2.กำหนดให้บรรจุภัณฑ์และฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องไม่ใช้ข้อความตามที่กฎหมายกำหนด 3.กำหนดให้มีข้อความคำเตือนบนภาชนะบรรจุของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

4.กำหนดให้มีข้อความคำเตือนถึงโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บนภาชนะบรรจุและหีบห่อบรรจุของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งให้จัดทำเป็นรูปภาพ 4 สี 9 แบบ สับเปลี่ยนกันไปตามลำดับในอัตรา 1 แบบ ต่อ 1,000 ภาชนะบรรจุและหีบห่อบรรจุ 5.กำหนดขนาดของข้อความคำเตือนถึงโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น โดยให้ประกาศมีผลใช้บังคับเมื่อพ้น

ร่างประกาศฉบับนี้มีความคล้ายคลึงกับ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 18 พ.ศ. 2558 เรื่อง การแสดงข้อความเกี่ยวกับพิษภัยและอันตรายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในฉลากของบุหรี่ซิกาแรต ที่ออกมาทดแทนประกาศฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ที่ประกาศลงราชกิจจานุเษกษาเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558

โดยเมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียด ร่างประกาศดังกล่าวจะพบว่า ได้มีการกำหนดไม่ให้มีการใช้ข้อความในหลายลักษณะ เช่น ข้อความที่อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเหล้าเบียร์มีความปลอดภัยและส่งผลดีต่อสุขภาพ ข้อความที่เป็นเท็จและเกินความจริง ข้อความที่เชิญชวนให้บริโภคหรืออวดอ้างสรรพคุณ รวมถึงห้ามใช้ภาพที่มีนักกีฬา ภาพที่มีดารา ศิลปิน นักร้องหรือนักแสดง และภาพการ์ตูน

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดข้อความคำเตือนบนฉลาก ข้อ 6 (1) เช่น “การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี มีโทษจำคุกและปรับ” และ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้” ด้วยแบบตัวอักษรภาษาไทย “อังสะนา นิว” (Angsana New) หรือแบบตัวอักษรอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ตัวหนา แสดงเป็นตัวอักษรสีขาวบนพื้นสีดำเข้ม

ขณะที่ ข้อ 7 ได้กำหนดข้อความคำเตือนถึงโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มี 9 แบบ อาทิ “การดื่มสุรา ก่อให้เกิดโรคตับแข็งได้”, “การดื่มสุราแล้วขับขี่ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ความพิการ และความตายได้”, “การดื่มสุรา ทำให้ขาดสติและเสียชีวิตได้”, “การดื่มสุรา ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้”, “การดื่มสุรา ก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวได้”, “การดื่มสุราเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน” เป็นต้น โดยกำหนดให้จัดทำเป็นรูปภาพ 4 สี 6 แบบ สับเปลี่ยนกันไปตามลำดับในอัตรา 1 แบบ ต่อ 1,000 ภาชนะบรรจุ

ขณะที่ “อาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์” นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟต์เบียร์ (สมาคมคราฟต์เบียร์) กล่าวในเรื่องนี้ว่า หากประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ นอกจากจะส่งผลกระทบกับผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศทุกรายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไทยเบฟฯ บุญรอดฯ ต่างก็จะได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด

และอีกด้านหนึ่งก็จะกระทบกับการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศ ทั้งไวน์ วิสกี้ ฯบฯ ที่จะต้องพิมพ์ฉลากดังกล่าวเพื่อนำมาปิดทับฉลากเดิมที่มาจากโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ยุ่งยากและเป็นต้นทุน

นอกจากนี้จะกระทบกับอุตสาหกรรมในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม ทุกคนก็กระทบหมด

อย่างไรก็ตาม หลังการทำประชาพิจารณ์ร่างประกาศฉบับนี้สิ้นสุดลง สมาคมจะทำหนังสือร้องเรียนไปยัง คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เห็นตรงกันว่า ร่างประกาศดังกล่าวไม่สมเหตุสมผล ไม่สอดคล้องหรือสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเร่งผลักดันการฟื้นฟูและพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ และขัดกับยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ด้านการท่องเที่ยวและด้านอาหาร และจำกัดเสรีภาพของผู้ประกอบการและผู้บริโภคจนเกินสมควร

“ประกาศนี้เป็นนโยบายการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สุดโต่ง อาจจะกล่าวได้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่มีมาตรการการควบคุมการบริโภคเหล้าเบียร์ด้วยมาตรการฉลากแบบนี้ และจากข้อมูลต่าง ๆ ในต่างประเทศ เกณฑ์การควบคุมในลักษณะนี้ ในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะใช้เป็น Symbolic หรือการทำเป็นสัญลักษณ์ เช่น รูปผู้หญิงตั้งครรภ์ ที่บ่งบอกว่าคนตั้งครรภ์ห้ามดื่มหรือใช้รูปเด็กที่มีตัวเลขกำกับ ที่เป็นการห้ามขายให้เด็ก หรือเยาวชน เป็นต้น สำหรับในบ้านเราเอง ตอนนี้ก็มีผู้ประกอบการหลายรายก็เริ่มมีการใช้ Symbolic ในลักษณะแบบนี้บนกระป๋อง บนขวดบ้างแล้ว”

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...