นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้แบ่งหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคมให้นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ กำกับดูแลพร้อมกับเร่งรัดโครงการในส่วนของทางบก ทางราง และทางน้ำ ประกอบด้วย 1.กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เรื่อง ปฏิรูปเส้นทางรถเมล์และปรับบทบาทกรมการขนส่งทางบกให้เป็นเรกูเลเตอร์
2.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เร่งรัดเรื่องการระดมทุนกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) วงเงิน 44,819 ล้านบาท สร้างทางด่วน 2 สาย คือ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก กับทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วง N2-N3
3.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.เร่งจัดซื้อรถเมล์ NGV ล็อตแรก 489 คัน วงเงิน 4,020 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายปี 2561 4.บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) 5.กรมเจ้าท่า (จท.) เร่งรัดการพัฒนาเรือคุรยส์ที่ จ.กระบี่และภูเก็ต รวมถึงพัฒนาเส้นทางเดินเรือเฟอร์รี่เชื่อมทะเลอ่าวไทยสำหรับรองรับรถยนต์ จากปัจจุบันรองรับได้เฉพาะผู้โดยสาร และให้เร่งสะสางปัญหา IUU
6.การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ให้เร่งลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงินกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
7.การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟท.) และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด โดยเร่งรัดการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา และรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน อีกทั้งให้เร่งรถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 9 เส้นทางให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเซ็นสัญญาเฟสแรก 5 เส้นทางให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้
รวมทั้งให้ช่วยดูเรื่องแผนฟื้นฟู 3 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การรถไฟฯ และ ขสมก. ให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.)
ด้านนายไพรินทร์กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนทำตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้ พร้อมน้อมนำพระราชดำรัสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเน้นย้ำให้ทำงานโดยคำนึ่งถึงความสุขและความปลอดภัยของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญสุด ขอให้รัฐมนตรีใหม่ใช้ปัญญาาและความอดทนเป็นแนวทางในการทำงาน
“เวลาของรัฐบาลเหลืออีก 1 ปีนับจากนี้ ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมทำงานไปได้มากแล้ว ให้ประชาชนได้ใช้โครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ให้ประเทศก้าวหน้าไปอีกขั้น ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญมากของกระทรวงคมนาคม ใน 3 เดือนนี้โครงการต่างๆ จะมีความก้าวหน้ามากขึ้นไปอีก ตอนนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยเราอยู่ในช่วงฟื้นตัวขาขึ้น ทั้งจีดีพีก็ดี ในการแข่งขันของประเทศก็ดี ช่วงนี้เป็นจังหวะเหมาะสมมากจะออกแรงผลักดันโครงสร้างพื้นฐานออกไปให้ลุล่วงตามแผนที่วางไว้”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายไพรินทร์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงคมนาคมเป็นกระทรวงที่มีโครงการโครงสร้างพื้นฐานมากที่ต้องเร่งผลักดันให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะไทยแลนด์ 4.0 และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เช่น ทางอากาศน่าจะเป็นเร่งพัฒนาสุวรรณภูมิเฟส 2 ในส่วนของถนนจะเป็นมอเตอร์เวย์ จะต้องสร้างเส้นทางใหม่เพิ่ม ด้านระบบรางมีรถไฟจะมีทางคู่และรถไฟความเร็วสูง ส่วนทางน้ำมีการพัฒนาท่าเรือ เช่น มาบตาพุด ซึ่งที่ผ่านมาแนวทางการบริหารงานด้าน รถ เรือ รางต่างๆ เป็นสิ่งที่กระทรวงทำอยู่และทำได้ดีอยู่แล้ว พียงแต่จะต้องให้มีการเร่งรัดให้สอดคล้องกับแนวคิดที่รัฐบาลคิด เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
“เรื่องใหญ่ที่รัฐบาลต้องการให้ดำเนินการ คือ การผลักดันโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศให้รับกับไทยแลนด์ 4.0 และอีอีซี ซึ่งอีอีซีหรือชื่อเดิมคืออีสเทิร์นซีบอร์ด จริงๆ เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ผมก็มีส่วนร่วมตอนที่ผมเป็นวิศวกรทีมชุดแรกๆ ที่ไปบุกเบิกนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและเวนคืนที่ดิน”
นอกจากนี้ 30 ปีผ่านไป นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ติด 1 ใน 10 ของโลก และเป็นตัวที่สร้างจีดีพีให้กับประเทศ 20-3% ทางนายกรัฐมนตรีเลือกที่จะนำอีสเทิร์นซีบอร์ดมาสนับสนุนใหม่ภายใต้ชื่ออีอีซี คิดว่าเป็นแนวคิดที่ดีมาก ถ้าทำสำเร็จจะเป็นตัวหลักในการดันจีดีพีของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง อย่างที่เราเคยทำสำเร็จมาแล้วจากอีสเทิร์นซีบอร์ด ในฐานะวิศวกรคนไทยคนหนึ่ง ผมภูมิใจที่ได้เห็นพื้นที่อุตสาหกรรมหนักแห่งหนึ่งที่คนไทยทำเอง และทำได้ดีมาก ถ้าเทียบกับนานาประเทศ ฉะนั้นมหัศจรรย์แบบนั้นถ้าเราพยายามอีกครั้งหนึ่งผมเชื่อว่าเราทำได้ และพื้นที่ตรงนั้นจะเป็นอุตสาหกรรมไฮเทคสำหรับอนาคต นายไพรินทร์กล่าว