นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ พระอัจฉริยภาพทางด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญา การทอผ้าของไทย ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้งที่ 3 พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ "พระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้า" ณ ห้องภูผาเมฆ ชั้น 3 โรงแรมทีอาร์ร็อคฮิลล์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่
โดยมี นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยคณะรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอทุกอำเภอ และในการนี้ นายสงัด พืชพันธุ์ พัฒนาการจังหวัดสงขลา ได้นำทีมพัฒนาการอำเภอทุกอำเภอ เข้าร่วมงานด้วย รวมถึง เยาวชน นักเรียน นักศึกษา รวมถึงผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้เข้าร่วม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องจากทรงมีเป้าหมายที่อยากเห็นพสกนิกรชาวไทยมีความสุข
และนับเป็นโอกาสอันดีของชีวิตที่ลูก ๆ หลาน ๆ ของพวกเราทุกคนได้มีโอกาสมาทำสิ่งที่จะก่อเกิดสิ่งที่ดีให้กับชีวิตและครอบครัว เพราะทุกคน คือ “ผู้สืบสาน รักษา และต่อยอด” ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปี หลวง ซึ่งพระองค์ท่านมีพระราชปณิธานทำให้พวกเราคนไทยทั่วประเทศ ได้ช่วยกันนำเอาภูมิปัญญางานหัตถศิลป์และหัตถกรรมไทยที่มาจากมันสมองและสองมือ มาทำการประดิษฐ์เป็นชิ้นงานขึ้น เรียกว่า “งานหัตถกรรมไทย” ที่มีหลากหลายแขนง ซึ่งชาวสงขลานับว่าโชคดีที่มีโอกาสในการสนองพระกรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมุ่งมั่น “สืบสาน รักษา และต่อยอด” พระราชดำริด้านการนำภูมิปัญญาหัตถศิลป์หัตถกรรมในด้านผ้าไทย ซึ่งเป็นมรดกของบรรพบุรุษไทยที่ได้รับการรื้อฟื้น
ด้านนายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา ได้ผลักดันมาตรการดังกล่าวในการส่งเสริมให้มีการ จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาผ้าไทย จำนวน 2 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นเกาะยอ วัดโคกเปี้ยว ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา และศูนย์เรียนรู้ชุมชนภูมิปัญญาบ้านนาเสมียน ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา สนับสนุนให้ผู้ประกอบการผ้า ร่วมส่งผ้าประกวดในการประกวด ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา และงานหัตถกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งจังหวัดสงขลา สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง ประเภท ผ้าบาติก มัดย้อม เขียนเทียน ผลงานจากกลุ่มมีดีนาทับ อำเภอจะนะ
อีกทั้ง ดำเนินการพัฒนาลายผ้าไทยจากลายราชวัตรดั้งเดิม ต่อยอดเป็น “ลายราชวัตรยกดอกสะเดา” ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการเก็บลาย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ ปัจจุบันจังหวัดสงขลา มีกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการผ้า จำนวน 46 กลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตผ้าทอ จำนวน 10 กลุ่ม ผู้ผลิตผ้าบาติกมัดย้อม จํานวน 14 กลุ่ม และกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้า จำนวน 22 กลุ่ม โดยในปี พ.ศ. 2566 จนถึงปัจจุบัน สามารถสร้างรายได้จากการผลิตผ้าได้มากกว่า 70 ล้านบาท
สำหรับกิจกรรมภายในงานมีการ Workshop รูปแบบแบ่งกลุ่ม 5 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 เป็นการสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมสู่ตลาดสากล, กลุ่มที่ 2 การต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมตามเทรนด์แฟชั่นร่วมสมัย, กลุ่มที่ 3 การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด กลุ่มที่ 4 การผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) และกลุ่มที่ 5 กลยุทธ์ทางการตลาดและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดทักษะที่เป็นเลิศ สามารถนำไปพัฒนาตนเอง ให้เป็นดีไซเนอร์ ให้เป็นผู้ประกอบการ ผู้รักษาและต่อยอดศิลปวัฒนธรรม หัตถศิลป์ หัตถกรรม อันทรงคุณค่าอย่างยั่งยืนสืบไป