ดร.ธิติวัฐ อดิศรพันธ์กุล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นกังวลต่อมาตรการดอกเบี้ยในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการและประชาชนที่มีภาระผูกพันกับสถาบันทางการเงินต่างๆ โดยจะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วถึง 8 ครั้ง จากอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% โดยล่าสุดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.50% ซึ่งส่งผลทำให้ต้องตั้งข้อสังเกตว่ามาตรการดอกเบี้ยนั้นยังเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันหรือไม่
จะเห็นได้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 106.98 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 108.18 ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 1.11(YoY) โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และต่ำในรอบ 35 เดือน การปรับลดลงของเงินเฟ้อนี้สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ยังส่งผลต่อ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกันเมื่อเทียบกับเดือน ธันวาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 54.8 โดย เดือน มกราคม 2567 อยู่ที่ระดับ 54.5 การปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องของดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย ยังเป็นคำถามสำคัญและเป็นข้อกังวลต่อมาตรการดอกเบี้ยในปัจจุบัน
ดร.ธิติวัฐ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การกำหนดมาตรการดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย มาตรการทางการเงินที่เอื้อต่อการเสริมสภาพคล่องยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญต่อการลดภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภค
“ดร.ธิติวัฐ” วอนแบงก์ชาติ ทบทวนมาตรการดอกเบี้ย
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/79452