นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม 2567 ซึ่งก่อนที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมกิจกรรมของผู้ประกอบการชุมชนภาคเหนือในพื้นที่จังหวัดแพร่ โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกภัทร วังสุวรรณ นายบรรจง สุกรรฑา นางสาวณัฏฐิฐา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย นายกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายวัชรุน จุ้ยจําลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางนิภา รุกขมธร์ รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมลงพื้นที่ และมีนางกฤษนันท์ ทะวิชัย อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย นายสำรวย เข็มทองหลาง อุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ นายพงษ์เกษม โพธิ์แก้วอุตสาหกรรมจังหวัดพะเยา นางสาวนิลเนตร โลหะพจน์พิลาศ อุตสาหกรรมจังหวัดน่าน ให้การต้อนรับ
โดยวันที่ 17 มีนาคม 2567 จุดแรกคณะฯ ได้เยี่ยมชมการดำเนินกิจการของชุมชนหมู่บ้านตีเหล็กบ้านร่องฟอง ตั้งอยู่ที่ศูนย์การแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน หมู่ 5 ตำบลร่องฟอง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ดำเนินกิจการอุตสาหกรรมตีเหล็ก และอุตสาหกรรมผ้ามัดย้อม มีจำนวนสมาชิก/พนักงาน ตีเหล็กประมาณ 800 ครัวเรือน ทำผ้าประมาณ 700 ครัวเรือน โดยมียอดขายปีล่าสุด ตีเหล็กประมาณ 20-30 ล้านบาท และผ้าประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการเกษตร ได้แก่ มีด เคียว จอบ เสียมพร้า ฯลฯ และผลิตภัณฑ์ชุดเสื้อผ้ามัดย้อม กางเกงขาก๊วยเสื้อผ้าแฟชั่น และเสื้อกันหนาว ทั้งนี้ หมู่บ้านตีเหล็กบ้านร่องฟอง ได้ขอรับการสนับสนุนแหล่งเงินทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ผลักดันการแก้ปัญหาผังเมืองจังหวัดเพื่อให้สามารถขยายกิจการโรงงานได้ โดยในปี 2567 กระทรวงอุตสาหกรรม จะเข้าไปส่งเสริม สนับสนับ ได้แก่ 1) การสนับสนุนเงินทุน โดย ธพว. และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เช่น โครงการสินเชื่อ BCG Loan, สินเชื่อ SME 3D, สินเชื่อ SME Refinance, สินเชื่อ SME Speed Up, สินเชื่อ Micro SME และสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) 2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า โดย กสอ. ให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เดิมสู่ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ใหม่ ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ของใช้บนโต๊ะอาหาร ชุดมีดทำครัว มีดเดินป่า ของใช้ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น 3) การผลักดันการแก้ไขปัญหาผังเมือง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และกลุ่มผู้ประกอบการ ได้ยื่นข้อเสนอการแก้ไขผังเมืองจังหวัดแก่คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างกระบวนการของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง และกระทรวงอุตสาหกรรมในการแก้ไขปัญหาผังเมืองเชิงนโยบายในภาพรวมต่อไป
จากนั้นได้ลงพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เพื่อเยี่ยมชมกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการยกระดับผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จังหวัดแพร่ เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน หรือ โครงการ “แพร่-กระจาย” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งมีกิจกรรมฝึกอบรมการทำตลาดออนไลน์ เช่น การสร้าง Story telling และเทคนิคการถ่ายภาพอย่างมืออาชีพ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกจากชิ้นส่วนไม้สักที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานหลากหลาย
และในช่วงบ่าย ได้เดินทางไปยังห้างหุ้นส่วนจำกัด แพร่สักทองเฟอร์นิเจอร์ (ไทยแลนด์) ตั้งอยู่ที่ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ซึ่งประกอบกิจการเครื่องเรือนตกแต่งภายในอาคารจากไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้สักและผลิตภัณฑ์จากไม้สัก โดยผู้ประกอบการได้ขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรมในด้านเงินทุน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการลงทุนเครื่องจักร เพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิต การติดตั้งระบบ Solar Rooftop เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า และการสนับสนุนการปรับปรุงเครื่องจักรและกระบวนการผลิต
และในวันที่ 18 มีนาคม 2567 คณะฯ ได้เยี่ยมชมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ"การยกระดับผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จังหวัดแพร่ เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน" ณ ที่ทำการชมรมสตรีอำเภอร้องกวาง ตำบลทุ่งศรี จังหวัดแพร่ ในหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกตามแนวทาง BCG ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากขี้เลื่อยไม้สัก เศษเหลือใช้วัสดุทางการเกษตร และถ่ายทอดองค์ความรู้ตามแนวคิด BCG มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 200 คน
และในจุดสุดท้ายได้เดินทางไปตรวจราชการวิสาหกิจชุมชนสุราสักทองแพร่ ซึ่งประกอบกิจการสุรากลั่นชุมชน มีผลิตภัณฑ์สุรากลั่นชุมชน สาโท ไวน์ ณ ห้องประชุมใหญ่ สุราสักทองแพร่ โดยได้ขอรับการสนับสนุนด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีศักยภาพ ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกจากน้ำเสีย และของเสียจากกระบวนการผลิต เช่น กากส่าเหล้า มูลของสุกร ตามความเหมาะสมกับวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งปัญหาข้อจำกัดเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ พร้อมขอรับการสนับสนุนการสร้างแบรนด์และโฆษณาในพื้นที่
“ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประกอบการ จะเป็นเรื่องของเงินทุน การขอรับการสนับสนุนการติดตั้งระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการสนับสนุนปรับปรุงเครื่องจักรและกระบวนการผลิต ซึ่งกระทรวงฯ พร้อมสนับสนุนเต็มที่ โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ มีสินเชื่อสนับสนุนเงินทุน เช่น สินเชื่อ BCG โปรแกรมสินเชื่อสำหรับ SME และสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) ขณะเดียวกันกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ กรอ. ได้เสนอแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดชนิด หรือ ประเภทของโรงงาน เพื่อแก้ไขชนิดหรือประเภทของโรงงานให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา ไม่เข้าข่ายการเป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานต่อไป ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567 พร้อมทั้งเตรียมผลักดันให้มีการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนจาก Solar Roof top ได้อีกด้วย
ส่วนข้อเรียกร้องของผลิตภัณฑ์สุรากลั่นชุมชน ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้คำแนะนำในการขอการรับรอง มผช. และกำหนดมาตรฐานรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ พร้อมทั้งให้ กรอ.สนับสนุนการปรับปรุงกระบวนการผลิตผ่านโครงการ "เร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม" เพื่อเชิญชวนให้จดทะเบียนเครื่องจักรและให้คำแนะนำการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรให้กับสถานประกอบการ และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก โดย กสอ. มีแผนการดำเนินโครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วย การประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และส่งเสริมการสร้างแบรนด์ (Branding) และอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) เพื่อสร้างตัวตนของแบรนด์ตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจ”
สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ในวันพรุ่งนี้ (19 มี.ค.67) ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมมีโครงการตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดแพร่ ที่ขอรับการผลักดันจากกระทรวงฯ ในโครงการก่อสร้างศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้และออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้สักแห่งประเทศไทย ในวงเงินงบประมาณ 270 ล้านบาท ในพื้นที่ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โดยใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการในปี 2568 - 2571