21 มีนาคม 2567: ทีเส็บจับมือ 4 สมาคมพันธมิตร ผลักดันงานเทศกาลไทยไปสู่เวทีระดับโลก ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งใช้ต้นทุนวัฒนธรรมยกระดับเศรษฐกิจไทย พร้อมปั้นงานเทศกาลสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง มุ่งดึงกลุ่มผู้เข้าร่วมงานเทศกาลที่มีกำลังซื้อสูงจากทั่วโลก เป็นการต่อยอดผลสำเร็จในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากทีเส็บให้การสนับสนุนการจัดงานเทศกาลกว่า 100 งาน สร้างเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจให้ประเทศกว่า 50,000 ล้านบาท
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ปีนี้ทีเส็บมีนโยบายที่จะยกระดับงานเทศกาลในประเทศไทยให้เป็นกลไกสร้างประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการจัดงานระดับโลก และเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมยกระดับเศรษฐกิจไทย จากเดิมที่ใช้งานเทศกาลเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศระยะสั้น ไปสู่แนวทางใหม่คือใช้งานเทศกาลเป็นแพลตฟอร์มต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ เน้นความต่อเนื่องของการจัดงาน สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้เข้าร่วมงานที่มีกำลังซื้อสูง มีเป้าหมายการเข้าร่วมงานที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นและมองหาประสบการณ์สร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายที่โดดเด่นในการจัดงานเทศกาล
การบรรลุเป้าหมาย จะดำเนินการโดยใช้ 3 เสาหลักเพื่อสร้าง “ระบบนิเวศสร้างสรรค์” (Constructive Ecosystem) สำหรับการจัดงานเทศกาล ประกอบด้วย
1. การประมูลสิทธิ์การจัดงานระดับโลกและการดึงงานระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย อาทิ การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ. 2572 ซึ่งประเทศไทยเพิ่งได้รับสิทธิ์การจัดงาน งานแข่งรถ Formula E จังหวัดเชียงใหม่ และการดำเนินการเพื่อเสนอประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงาน WorldPride ตามนโยบายรัฐบาล เป็นการ ปักหมุดประเทศไทยในเวทีเทศกาลโลก สร้างเครือข่ายของบุคลากรไทยในกลุ่มธุรกิจ Soft Sectors เป็นเวทีให้คนไทยได้มีส่วนร่วม สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
2. Business Festival สนับสนุนงานเทศกาลเชิงธุรกิจ ให้เป็นมากกว่าการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มีความสนใจเดียวกัน โดยสร้างแพลตฟอร์มและโอกาสทางธุรกิจผ่านเครือข่ายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง พร้อมเปิดโอกาสให้กับคน รุ่นใหม่ และความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ยกระดับบุคลากรและสร้างระบบนิเวศในอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กัน
3. Festival Academy เป็นการดำเนินการต่อเนื่องมา 3 ปี คือ สนับสนุนสมาคมพันธมิตรในการจัดกิจกรรมยกระดับสมาชิกของสมาคม อาทิ Festival Creative Lab การจัดให้เป็นเวทีรวมตัวกันของผู้จัดงานเทศกาลในประเทศ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ แรงบันดาลใจ และสร้างหรือแลกเปลี่ยนเครือข่ายระหว่างกัน ทั้งในและต่างประเทศ
“โครงการทั้ง 3 เสาหลัก เป็นรากฐานสำคัญที่ทีเส็บให้ความสำคัญและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับ ภูมิทัศน์และสร้างระบบนิเวศการจัดงานเทศกาลในประเทศไทยให้สอดรับกับแนวทางการจัดงานเทศกาลของโลก ควบคู่กันไปกับการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศผ่านการประมูลสิทธิ์ เพิ่มมิติทางธุรกิจในการจัดงาน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเนื้อหาที่โดดเด่นของประเทศไทย และพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ให้พร้อมแข่งขันต่อไปในเวทีโลก” นายจิรุตถ์ กล่าว
ด้าน นายบุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA) กล่าวว่า การจัดงานเทศกาลเชิงธุรกิจหรือ Business Festival คือทิศทางของโลกปัจจุบัน สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้ก่อเกิดรายได้ สาระของงานประเภทนี้เป็นงานเชิงทรัพย์สินทางปัญญา สามารถสร้างความสำเร็จให้กับเจ้าของงาน เมืองที่จัดงานและผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ เพราะมีกลุ่มลูกค้าชัดเจน สร้างความยั่งยืนได้ โดยมีกลไกสำคัญคือการสร้างเครือข่ายและสายสัมพันธ์ของผู้มีส่วนได้เสียให้เกิดเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกิด Next Legacy ทั้งของผู้จัดงานและหรือเมืองเทศกาล
นายรัฐ จิโรจน์วณิชชากร นายกสมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย (TMPSA) กล่าวว่า การวิ่งมาราธอนเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ระดับโลกหลังยุคโควิด ด้วยอัตราการเติบโตของนักวิ่งมาราธอนที่กลับมาอยู่ในอัตราเร่งอีกครั้ง รวมถึงการเป็นแกนหลักของการท่องเที่ยวเชิงกีฬา นี่คือโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่จะตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดงานมาราธอนในภูมิภาคนี้ ด้วยการผสมผสานงานวิ่งที่มีมาตรฐานระดับโลกเข้ากับพลังของประเพณีและวัฒนธรรมไทย หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันผลักดัน ผมเชื่อมั่นว่างานวิ่งมาราธอนจะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแกร่ง ในการดึงดูดผู้คนที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามายังประเทศไทย
นายอรรถพล ชัยทัต นายกสมาคมเครือข่ายผู้สร้างสรรค์วิชาชีพสื่อบันเทิงไทย (TECNA) กล่าวว่า งานเทศกาลไม่เพียงแค่เป็นเวทีสร้างสรรค์และเสริมความบันเทิง แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่สนับสนุนและเสริมสร้างอุตสาหกรรมบันเทิงให้เติบโตและยั่งยืน การจัดงานเทศกาลช่วยเปิดโอกาสและสร้างพื้นที่ให้กับผู้สร้างสรรค์เนื้อหาที่จะแสดงความสามารถและเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาวงการบันเทิงในประเทศ นอกจากนี้ งานเทศกาลยังเป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายและการพัฒนาทักษะของบุคคลในวงการ ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงของเราเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก
นางวรินดา เธียรอัจฉริยะ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมและศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (CAPT) กล่าวว่า ศิลปวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในสาระสำคัญของ Festival Economy เทศกาลศิลปะสามารถดึงนักเดินทางทั่วโลกให้มาเสพความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินได้ต่อเนื่อง เปลี่ยนไปไม่ซ้ำทุกครั้งที่จัดงาน เพราะศิลปินไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ได้รับเชิญไปจัดแสดงผลงานในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เทศกาลศิลปะในประเทศไทยก็ได้รับความสนใจจากวงการศิลปะนานาชาติเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับเทศกาลระดับโลก จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทีเส็บ หน่วยงานภาครัฐ ให้ความสำคัญเข้ามาส่งเสริมให้ความรู้ อำนวยความสะดวกให้กับการจัดงาน เพราะงานศิลปะเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้สร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ
การประกาศนโยบายขับเคลื่อนงานเทศกาลให้มีมิติโอกาสทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างจุดขายให้กับประเทศไทยสำหรับการจัดงานเทศกาลระดับโลกครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินงานก่อนหน้านี้ที่ทีเส็บได้ “ร่วมสร้าง” งานเทศกาลกับเมือง ชุมชน ผู้จัดงาน และ 4 สมาคมพันธมิตร ที่ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจมูลค่าสูงทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์และการสร้างสรรค์ ธุรกิจบันเทิง กีฬา รวมถึงนวัตกรรม ได้แก่ สมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA), สมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย (TMPSA), สมาคมเครือข่ายผู้สร้างสรรค์วิชาชีพสื่อบันเทิงไทย (TECNA), และสมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมและศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (CAPT) รวมทั้งเป็นผลมาจากการที่ ทีเส็บได้สนับสนุนงานเทศกาลกว่า 100 งาน มีส่วนช่วยกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย สร้างเงินหมุนเวียนให้ประเทศกว่า 50,000 ล้านบาท ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
พร้อมกันนี้ ในปีงบประมาณ 2567 ทีเส็บยังมีแผนสนับสนุนการจัดงานอีกกว่า 30 งาน มุ่งดึงนักเดินทางไมซ์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าร่วมงาน 2.3 ล้านคน สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 3,600 ล้านบาท และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยขยายตัวเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 5,800 ล้านบาท