“พาณิชย์” จัดการเชิงรุก เร่งเดินหน้า 6 มาตรการ 25 แผนงาน ผลไม้ปี 67 มะม่วง-ทุเรียน-เงาะ-มังคุด-ลองกอง รุกรับมือผลผลิตกระจุก วางเป้า 9 แสนตัน “วัฒนศักย์” มั่นใจผลผลิตปีนี้ไม่มีปัญหาทั้งด้านการตลาดและราคา
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบกดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์กล่าวในรายการ ”ท่องโลกเกษตร” ทาง FM 89.5 MHz ถึงมาตรการบริหารจัดการรับมือผลไม้ที่ผลผลิตกำลังออกสู่ตลาดในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าว่า ขณะนี้รัฐบาลโดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมมาตรการต่าง ๆ ไว้ทั้งหมดแล้ว
โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์นั้นจะมี 6 มาตรการกับ 25 แผนงานเพื่อรองรับผลผลิตออกสู่ตลาด
ทั้งนี้ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ผลไม้ปีนี้จะให้ผลผลิตล่าช้าออกไปประมาณ 1-2 เดือน ขณะที่ผลไม้บางชนิดเก็บเกี่ยวไปแล้วร้อยละ 80 อย่างเช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ ส่วนทุเรียนราคาผลไม้นั้น ภาควันออกจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่กลางเดือนเมษายนไปจนถึงต้นเดือนมิถุนายน เช่นเดียวกับผลไม้ชนิดอื่นเช่น เงาะ มังคุด ลองกอง เป็นต้น
ปีนี้ภาพรวมผลผลิตอาจจะเพิ่มกว่าปีก่อน 2 %หรือแสนกว่าตัน ไม่ได้เยอะมากแต่ปัญหาก็คือคือผลผลิตอาจจะออกล้าไปนิดนึงไปออกกันเยอะช่วงกลางเมษายนถึงต้นมิถุนายน 2567
ส่วนทุเรียนแม้จะเพิ่มขึ้น แต่ตลาดเราก็ไปได้ดี โดยเฉพาะตลาดจีน อธิบดีกรมการค้าภายในระบุ
อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวต่อว่า สถานการณ์ผลไม้ปีนี้โดยรวมแล้ว ไม่น่ามีปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้เตรียมพร้อมมาตรการต่าง ๆ รองรับไว้แล้ว ทั้งเรื่องโลจิสติกการขนส่ง การรับซื้อผลผลิตในการราคานำตลาด การกระจายออกนอกแหล่งผลิตโดยเร็วเพื่อป้องกันการถูกกดราคาจากพ่อค้า
รวมถึงการเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการรายย่อยในการบริหารจัดการผลไม้ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้ชะล่าใจยังคงมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนผลไม้
“มังคุดปีนี้ตะวันออกกับใต้ปริมาณเท่า ๆ กัน 50 : 50 ลำไยแหล่งปลูกใหญ่เชียงใหม่ ลำพูน เงาะภาคตะวันออก เป็นหลัก ส่วนลองกองใต้แน่นอน บ้านเกิดเขาอยู่ทางใต้ น้ำดอกไม้ปีนี้ตลาดก็ไปได้ดี ตอนนี้เก็บไปแล้วประมาณ 80% ราคาก็ค่อนข้างดีกว่าปีที่ผ่านมา อยากให้ดูแลเรื่องคุณภาพ ไม่ตัดทุเรียนอ่อน อันนี้ฝากถึงพี่น้องชาวสวนด้วย ถ้าดูแลคุณภาพดีตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เราก็ยังเป็นหนึ่งและเป็นที่ต้องการของตลาด" อธิบดีกรมการค้าภายในระบุ
นายวัฒนศักย์แจงรายละเอียดมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2567 ใน 6 มาตรการกับ 25 แผนงานเพื่อรองรับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด โดย 6 มาตรการดังกล่าวประกอบด้วย
1. การส่งเสริมการผลิตและการแปรรูป ได้แก่การเร่งรัดตรวจรับรองแปลงมาตรฐานจีเอพี (GAP) และการส่งเสริมการแปรรูป โดยส่วนราชการต่างๆ ได้เตรียมการตามนโยบายรัฐบาล โดยกรมวิชาการเกษตรกรเองก็เร่งออกแปลงจีเอพี(GAP )ให้ถูกต้องครบถ้วนและครอบคลุม โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.2 แสนแปลง ซึ่งปีที่แล้วก็ทำได้เกินกว่าเป้าด้วย อีกส่วนก็คือการส่งเสริมการแปรรูป ตรงนี้เราได้เตรียมการเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา
2. การส่งเสริมตลาดภายในประเทศ ซึ่งมาตรการนี้กรมได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทั้งผลไม้และพืชเศรษฐกิจอื่น อาทิ การจัดทำเกษตรพันธสัญญา การกระจายออกนอกแหล่งผลิต การรณรงค์บริโภคผลไม้ภายในประเทศ การสนับสนุนกล่องไปรษณีย์ รวมถึงการโหลดผลไม้ขึ้นเครื่องฟรี 20 กิโลกรัม เป็นต้น
“เรื่องของการทำเกษตรพันธสัญญา ปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 1 แสนตันโดยประสานผู้รวบรวม แปรรูป ผู้ส่งออกเข้าไปทำสัญญาข้อตกลงตามมาตรฐานที่กรมการค้าภายในจัดทำขึ้น อัยการสูงสุดรับรองแล้วว่ามีความเป็นธรรม เขาก็เข้าไปทำสัญญากับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ทุกชนิดผลไม้
เมื่อสัปดาห์ก่อนท่านรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์นำผู้ประกอบการขึ้นไปทำสัญญาข้อตกลงที่เชียงราย รองรับผลผลิตที่จะออกในเดือนพฤษภาคนนำ เป็นการสร้างหลักประกันขั้นต่ำไว้ ถ้าราคาสูงก็ถือเป็นประโยชน์กับเกษตรกร
ส่วนอีกช่องทางจัดกิจกรรมบริโภคผ่านค้าปลีกค้าส่ง ปั้มน้ำมันต่าง ๆ ขอบคุณสถานบริการน้ำมันต่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรมในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีรถโมบายรถเร่ที่กระจายอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลมาจำหน่ายผลไม้ที่สดใหม่ให้พี่น้องประชาชนในราคาที่ไม่แพงด้วย ปีนี้เรายังร่วมหมู่บ้านคอนโดต่างๆ เป็นจุดกระจายผลไม้ให้เรา ในส่วนนี้เราได้เตรียมการไว้เรียบร้อยแล้ว” อธิบดีกรมการค้าภายใน เผย
นายวัฒนศักย์แจงต่อว่าสำหรับมาตรการที่ 3 คือการส่งเสริมตลาดต่างประเทศ เช่นการจัดมหกรรมการค้าชายแดน การจับคู่เจรจาธุรกิจ การร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ ฯลฯ
4. การเพิ่มประสิทธิภาพทางการค้า โดยมีการตั้งคณะกรรมการผลักดันการส่งออกผลไม้ไทยในตลาดต่างประเทศ การผลักดันการใช้ประโยชน์ทางการค้าจาก FTA ตลอดจนเสริมแกร่งการตลาดแก่ผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อการค้าทั้งในประเทศและส่งออก
5. การอำนวยสะดวกทางการค้า โดยผ่อนปรนเคลื่อนย้ายแรงงาน การสนับสนุนการคัดแยก-ขนย้าย ตลอดจนประสานงานทีมเซลล์แมนจังหวัดและประเทศเพื่อเชื่อมโยงจากต้นทางแหล่งผลิตถึงตลาดปลายทาง
มาตรการสุดท้าย 6. เป็นมาตรการทางกฎหมาย โดยผู้ค้าจะต้องปิดป้ายราคารับซื้ออย่างชัดเจนและต้องรับซื้อตามราคาที่ปิดป้ายเท่านั้น โดยจะมีทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบติดตาม หากพบเจอมีทั้งป้องปรามและปราบปราม พร้อมดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 ฉบับในทันทีและจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดเพื่อปกป้องพี่น้องเกษตรกรจากการถูกเอาเปรียบของพ่อค้า หากพบเห็นเบาะแสโทร 0-2507-5530 , สายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน ตลอด 24 ชั่วโมง