“สุรพงษ์” เคาะแนวทางแก้ปมพื้นที่ทับซ้อนไฮสปีดเทรนช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง ลั่นหาก พ.ค.นี้ “ซีพี” ไร้ข้อสรุปบัตรส่งเสริม BOI เตรียมสั่งการรถไฟฯ เดินหน้าเปิดประมูลสร้างส่วนของไฮสปีดเทรนไทย – จีนทันที เหตุมีความพร้อมเรื่องแบบก่อสร้างและวงเงินลงทุน
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย โดยระบุว่า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างก่อสร้างรวม 12 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา และยังมั่นใจว่าจะแล้วเสร็จเปิดบริการในปี 2571
ส่วนอีก 2 สัญญาที่เหลือ ประกอบด้วย สัญญาที่ 4 – 1 ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง และสัญญาที่ 4 – 5 ช่วงบ้านโพ – พระแก้ว อยู่ระหว่างรอลงนามสัญญา โดยเฉพาะสัญญาที่ 4- 1 ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับเอกชนคู่สัญญาในโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เพื่อรับงานก่อสร้างส่วนของพื้นที่ทับซ้อนบริเวณนี้ ซึ่งทราบว่า ร.ฟ.ท.ยังอยู่ระหว่างเจรจารายละเอียด
“ทราบว่าตอนนี้การรถไฟฯ กำลังเจรจากับเอกชนคู่สัญญาไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน และโครงการนี้ก็อยู่ในการดูแลของอีอีซี ซึ่งกำลังเจรจาเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน โดยเงื่อนไขในนั้นจะมีการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนช่วงบางซื่อ - ดอนเมืองด้วย และขณะนี้ทางเอกชนก็อยู่ระหว่างขอบัตรส่งเสริม BOI ครั้งสุดท้าย ซึ่งต้องได้รับภายในเดือน พ.ค.นี้ หากไม่สามารถดำเนินการได้ก็น่าจะกระทบต่อสัญญาไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินด้วย”
อย่างไรก็ดี นโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีกรอบดำเนินงานว่าหากเอกชนคู่สัญญาไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินไม่สามารถออกบัตรส่งเสริมการลงทุน BOI ได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ แน่นอนว่าจะทำให้การแก้ไขสัญญาโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินล่าช้าออกไปอีก ในส่วนของรถไฟไทยจีนที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องอยู่ในเงื่อนไขงานก่อสร้างพื้น
ทั้งนี้ กระทรวงฯ มีเป้าหมายว่าหากภายในเดือน พ.ค.นี้ เอกชนยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง ก็จะมอบหมายให้ ร.ฟ.ท.เริ่มดำเนินการเปิดประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการตามแผนงานของรถไฟไทยจีน โดยงานส่วนนี้ประเมินวงเงินก่อสร้างราว 9 พันล้านบาท และก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.มีกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติในก่อสร้างสร้างงานอยู่แล้วราว 4 พันล้านบาท ดังนั้นจะเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีกราว 5 พันล้านบาท เพื่อเริ่มดำเนินการทันที ไม่ให้กระทบต่อภาพรวมโครงการรถไฟไทยจีน
นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า รถไฟไทยจีนตอนนี้เดินหน้างานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นอีก 2 สัญญาที่เหลืออยู่ควรต้องมีทางออกโดยเร็ว เพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนเปิดให้บริการในปี 2571 โดยจากการประเมินภาพรวมในตอนนี้ยังเชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามแผน ในเดือน พ.ค.นี้ จะเป็นกรอบเวลาสุดท้ายของการรอความชัดเจนงานก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อน ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง เพราะรัฐบาลก็มีเงินในการลงทุนก่อสร้างเองให้เป็นไปตามแผนงานอยู่แล้ว อีกทั้งโครงการนี้ก็มีความพร้อมทั้งแบบก่อสร้างสามารถเริ่มงานได้ทันที