“พาณิชย์”ชี้ตลาดเพชรปี 61 มีแนวโน้มฟื้นตัว หลังผู้จำหน่ายชั้นนำลงทุนด้านประชาสัมพันธ์มากขึ้น แนะผู้ประกอบการไทยหาทางลอยตามน้ำ เกาะกระแสขาขึ้น เพื่อกระตุ้นยอดขาย และสร้างโอกาสในการ ดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการเจียระไนและลงทุนในไทยให้ได้เพิ่มมากขึ้น
นางจันทิรา ยิมเรวัตวิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยจากรายงานของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน ว่าบริษัทให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ Bain & Company ได้ประเมินว่าแนวโน้มตลาดการค้าเพชรในปี 2561 ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2560 ที่ผ่านมา เพราะตลาดเครื่องประดับเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐฯ จะกลับมาขยายตัวดีขึ้น หลังจาก อ่อนตัวต่อเนื่องมาหลายปีจากปัญหาเศรษฐกิจ และจีน ซึ่งเป็นลูกค้าสำคัญของตลาดเพชรโลก จะเริ่มกลับมาบริโภคอีกครั้ง หลังนโยบายต่อต้านคอร์รับชั่นของรัฐบาลจีนได้ชะลอการซื้อขายเพชรในประเทศไประยะหนึ่ง ขณะที่กลุ่มเจ้าของเหมืองก็ยืนยันว่าธุรกิจเริ่มกลับมาดีขึ้น หลังจากที่เทขายเพชรค้างสต๊อกออกมาก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าปีนี้ จะสามารถขุดเพชรได้สูงถึง 134 ล้านกะรัต
ทั้งนี้ ในปี 2561 กลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายเพชรรายสำคัญของโลก เช่น De Beers และ Tiffany ได้มีการวางแผนที่จะลงทุนด้านการประชาสัมพันธ์สูงถึง 150 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 50% ซึ่งตัวเลขนี้ ยังไม่รวมปริมาณการลงทุนด้านการประชาสัมพันธ์ของกลุ่มค้าปลีก โดยเป้าหมายการประชาสัมพันธ์เพื่อที่จะชักจูงให้ผู้บริโภคใช้เพชรจากธรรมชาติต่อไป แทนที่จะใช้เพชรที่ถูกผลิตขึ้นในห้องแล็ป ทำให้แนวโน้มการค้าเพชรน่าจะกลับมาคึกคักได้
“จากแนวโน้มข้างต้น ทำให้ประเมินได้ว่า ราคาเพชรและเครื่องประดับ High-end ที่ใช้เพชรเป็นส่วนประกอบจะมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น เพราะผู้จำหน่ายชั้นนำจำนวนหนึ่งเริ่มหันมาลงทุนด้านประชาสัมพันธ์กันมากขึ้น จึงถือเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะใช้เทรนด์นี้ให้เป็นประโยชน์ และหาทางลอยตามน้ำไปด้วย หรืออาจจะลงทุนประชาสัมพันธ์เป็นพิเศษเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่ายสินค้า”นางจันทิรากล่าว
อย่างไรก็ตาม กรณีที่บริษัทเจียระไนเพชรในอินเดียกำลังประสบปัญหาความไม่ลงรอยกันของกลุ่มผู้ผลิตเครื่องประดับ และปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจเครื่องประดับที่มีการทำธุรกิจไม่โปร่งใส กรมฯ เห็นว่า ไทยควรจะใช้โอกาสนี้ในการดึงลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการเจียระไนที่ไทย หรือลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า เพื่อสร้างโอกาสในการค้าขายสินค้าเพชรของไทย
ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ของปี 2560 ไทยมีการส่งออกเพชรไปยังตลาดโลก มีมูลค่าเกือบ 5 หมื่นล้านบาท ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า มีตลาดนำเข้าหลักของไทย ได้แก่ อันดับ 1 ฮ่องกง(ร้อยละ 44) 2.เบลเยียม(ร้อยละ 18) 3.อินเดีย(ร้อยละ 11) 4.อิสราเอล(ร้อยละ 6.9) 5.UAE(ร้อยละ 5.5)
และหากมองในภาพรวมสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ในช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ของปี 2560 ไทยมีการส่งออกสินค้าดังกล่าวมีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า มีตลาดนำเข้าหลักของไทย ได้แก่ อันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์(ร้อยละ 28) 2.ฮ่องกง(ร้อยละ 20) 3.สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 9) 4.กัมพูชา(ร้อยละ 5.4) 5.สิงคโปร์(ร้อยละ 5) โดยเยอรมนีนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทย ในลำดับที่ 6(ร้อยละ 4.8) มีมูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาท