วันที่ 12 พฤษภาคม 2567 บ.นายอ ต.งิ้วด่อน อ.เมือง จ.สกลนคร ดร.ชูพงศ์ คำจวง นายก อบจ.สกลนคร และนายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย ร่วมงานสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟไฮเทคติดร่ม ประจำปี 2567 โดยเป็นการสืบสานประเพณีของชาวอีสานตามฮีต 12 เพื่อบูชาพญาแถนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลก่อนจะลงทำนาปี สำหรับความเป็นมาของบุญบั้งไฟบ้านนายอ ไม่ปรากฏหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์ มีเพียงแต่คำบอกเล่าของผู้ที่อยู่ในยุคแรกเริ่มที่มีการทำบุญบั้งไฟ ซึ่งมีไม่มากคนนักที่ทราบ เมื่อ พ.ศ. 2520 บั้งไฟช่วงแรกมาจาก จ.ยโสธร เป็นบั้งไฟที่ทำจากไม้ไผ่ มีขนาดความกว้าง 3 นิ้ว ซึ่งวิธีการทำค่อนข้างยาก การจุดบั้งไฟในตอนนั้นยังไม่ได้ทำเป็นประเพณีแต่อย่างใด เพียงแต่นำมาจุดพร้อมกับงานบุญผะเหวดจึงยังไม่มีบทบาทสำคัญ การจุดบั้งไฟในสมัยนั้นเป็นเพียงการจุดขึ้นไปโดยไม่รู้ทิศทางของบั้งไฟ และทำให้บั้งไฟไปตกใส่หลังคาบ้านเรือนของชาวบ้านสร้างความเสียหาย
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2533 นาย ประดิษฐ์ โคตรธรรม กำนัน ต.งิ้วด่อน ได้ริเริ่มทำบั้งไฟติดร่ม และเปลี่ยนจากบั้งไฟไม้มาเป็นเหล็กแทน ในช่วงแรกทดลองกับบั้งไฟที่มีขนาดความกว้าง 1 นิ้ว โดยการนำผ้ายางพลาสติกมาทำเป็นร่มและใช้เชือกไนลอนเป็นสายร่ม การติดร่มที่บั้งไฟทำให้เรารู้ทิศทางของบั้งไฟและทำให้บั้งไฟตกอย่างช้าๆ เมื่อทดลองได้สำเร็จ ก็เริ่มมีการแข่งขันบั้งไฟติดร่มขึ้น และปฏิบัติสืบมาจนปัจจุบัน ซึ่งปีนร้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-12 พฤษภาคม 2567 ถือว่าเป็นประเพณีอันดีงามที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างเม็ดเงินทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
สำหรับขบวนแห่นั้นประกอบด้วยบั้งไฟ ขบวนนางรำ และวิถีชีวิต อาชีพของชาวบ้านนายอ ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ประกอบอาชีพทำนา จากนั้นจึงได้มีการจัดบุญบั้งไฟให้เป็นประเพณีทุกๆ ปี ช่วงที่จัดงานบุญบั้งไฟจะเป็นช่วงเดือน 6 ซึ่งเป็นเดือนที่บ่งบอกว่าชาวบ้านจะลงมือทำนา ซึ่งการติดร่มนี้ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์อะไร เพียงแต่ติดเพื่อป้องกันอันตรายและทำให้มีความสวยงาม และไม่เหมือนกับที่อื่น เรียกได้ว่า บั้งไฟติดร่ม สร้างขึ้นเพื่อเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนและมีการตั้งชื่อประเพณีบั้งไฟว่า “บุญบั้งไฟไฮเทคติดร่ม” สมดังคำขวัญประจำตำบลงิ้วด่อนที่ว่า “พระสิงหราชมุนีคู่บ้าน สืบสานการตีเหล็ก บั้งไฟ ไฮเทคติดร่ม ชื่นชมประเพณีแข่งเรือ แหล่งต้มเกลือสินเธาว์ ตำนานเก่าท้าวผาแดง”
////////////////////// วัฒนะ แก้วก่า/สกลนคร 0819541528