นางสาริณี อังศุสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าบวท. ได้จ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ ให้สามารถรองรับจำนวนเที่ยวบินได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาตารางการทำการบินแออัด โดยตั้งเป้าหมายภายในอีก 10 ปีข้างหน้า จะต้องให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้ปีละประมาณ 2 ล้านเที่ยวบิน และในอีก 20 ปีข้างหน้า จะต้องรับได้ปีละ 2.7 ล้านเที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเฉลี่ยปีละ 1 ล้านเที่ยวบิน คาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนมิ.ย.นี้ จากนั้นจะเสนอให้กระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติและผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันท่าอากาศยานหลายแห่ง ประสบกับปัญหาตารางการบิน (สลอต) หนาแน่น เช่น ท่าอากาศยานดอนเมือง รองรับได้ 44 เที่ยวบิน/ชั่วโมง แต่มีเที่ยวบินจริงอยู่ที่ 60 เที่ยวบิน/ชั่วโมง ซึ่งที่มีอัตราเกินขีดความสามารถในการรองรับสูงที่สุดในเวลานี้, ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รองรับได้ 68 เที่ยวบิน/ชั่วโมง แต่มีเที่ยวบินจริงอยู่ที่ 66 เที่ยวบิน/ชั่วโมง และท่าอากาศยานภูเก็ต รองรับได้ 20 เที่ยวบิน/ชั่วโมง แต่มีเที่ยวบินจริงอยู่ที่ 22 เที่ยวบิน/ชั่วโมง เป็นต้น
นางสาริณี กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน บวท. ได้เตรียมความพร้อมทุกด้านเพื่อ สนับสนุนระบบการควบคุมการจราจรทางอากาศให้เกิดความคล่องตัว และมีการตัดสินใจที่แม่นยำมากขึ้นเท่านั้น รวมทั้งเร่งปรับปรุงด้านบุคคลากรด้วยการเร่งสร้างความสามารถให้กับผู้ควบคุมการจราจร เพราะปัจจุบันมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดอันตรายทางการบินเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม บวท. ได้ส่งทีมผู้บริหารไปประชุม ร่วมกับมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตบุคลากรด้านการบินของประเทศฝรั่งเศส เพื่อปรับปรุงหลักสูตรในการพัฒนาบุคลากรด้านการควบคุมการบิน โดยขณะนี้ เตรียมงเปิดรับพนักงานใหม่กว่า 100 คน อาทิ ผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศ วิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง งานมาตรฐาน และงานบริหารความปลอดภัย เป็นต้น เพื่อสร้างบุคลากรเตรียมพร้อมรองรับการเติบโตทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะอาชีพเหล่านี้กว่าจะเริ่มทำงานได้ประมาณ 3-4 ปี และกว่าจะเริ่มทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุดใช้เวลาประมาณ 7 ปี