วันนี้ (18 พ.ค. 67) เวลา 10.00 น. ที่ โรงแรมเดอะ คาวาลิ คาซ่า รีสอร์ท จ.พระนครศรีอยุธยา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม (Coaching) ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม จุดดำเนินการที่ 3 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางอรจิรา ศิริมงคล อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายประพันธ์ ตรีบุบผา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ และคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ได้แก่ ดร.ศรินดา จามรมาน นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ นายศิริชัย ทหรานนท์ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกปาน อ.ดร.กรกลด คำสุข นายตะวัน ก้อนแก้ว นายนุวัฒน์ พรมจันทึก และ กลุ่มเป้าหมายผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรมในพื้นที่ 26 จังหวัดภาคกลาง รวมจังหวัดอุทัยธานี ร่วมกิจกรรมดังกล่าว
กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม (Coaching) ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และงานหัตถกรรม ทั้งยังพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรม ให้สามารถจำหน่ายได้ในตลาดสากล กำหนดดำเนินการ 4 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 จังหวัดกระบี่ และ จังหวัดน่าน (ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว) จุดที่ 3 – 4 ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดขอนแก่น
นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี และพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” ซึ่งเป็นลายที่ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศและทรงนำมาออกแบบลายพระราชทานเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 72 พรรษา โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว, ประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา, ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลัก ทั้ง 4 ประเภทนี้ ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ ต่อไป
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่าตนมีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งในทุกครั้งที่ได้มาเป็นประธานเปิดการ coaching เพื่อพัฒนาศักยภาพของพี่น้องผู้เป็นความหวังของแผ่นดินและเป็นผู้ที่ช่วยขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตของคนไทยให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีเพิ่มมากขึ้นควบคู่ไปกับการรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในเรื่องของงานผ้าและงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ให้คงอยู่คู่กับผืนแผ่นดินไทย อีกทั้งยังถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้มาเจอพี่น้องชาวภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความโดดเด่นในด้านภูมิปัญญาและวิถีชีวิต
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นพระราชธิดาผู้มีกตเวทิตาคุณต่อสมเด็จพระบรมชนกนาถและพระราชบุพการี ด้วยทรงมีพระปณิธานอันมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระกรณียกิจเสด็จไปทรงงานในจังหวัดต่าง ๆ พร้อมพระราชทานความรู้ คำแนะนำ เพื่อธำรงรักษาภูมิปัญญา อัตลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม ที่สะท้อนผ่านงานหัตถศิลป์ หัตถกรรมไทย ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับโลกใบเดียวนี้ อันเป็นสิ่งที่พวกเราต้องช่วยกันสื่อสารและต่อยอดด้วยการมี "ทายาท" ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหลาน แต่เป็นใครก็ได้ อาจเป็นคนหมู่บ้านเดียวกันหรืออำเภอเดียวกัน จังหวัดเดียวกันก็ได้ หรือคนต่างชาติก็ได้ ให้เขามารับเอาสิ่งที่ดี ปลูกฝังให้เขารับเอาวิชาที่เขาสามารถทำได้ จึงเป็นที่มาของเครื่องหมายพระราชทาน Sustainable Fashion รับรองผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์หัตถกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการ guarantee ว่า ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเสียขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นงานผ้าหรืองานหัตถกรรมทุกชนิดจึงต้องใช้สีธรรมชาติ ใช้วัสดุธรรมชาติ และยืนอยู่บนพื้นฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นั่นคือ "การพึ่งพาตนเอง" ดังที่ทรงยั่วยุให้พวกเราพยายามที่จะปลูกพืชให้สีธรรมชาติ ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย มีการแลกเปลี่ยนวัสดุซึ่งกันและกันในประเทศ โดยไม่ใช้วัสดุจากโรงงาน จากเครื่องจักร จากกระบวนการผลิตแปรรูปที่ต้องใช้ทางเคมี หรือทางอุตสาหกรรม เพราะกระบวนการเหล่านี้ มันปลดปล่อยสิ่งที่เราเรียกว่า ยาพิษให้กับโลก
ดร.วันดี กล่าวว่า นับเป็นระยะเวลากว่า 5 ปีตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ที่พวกเราทุกคนได้รับพระกรุณาคุณจากพระองค์ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวงการผ้าและงานหัตถกรรมไทยอย่างมีนัยสำคัญ พี่น้องผู้ประกอบการทุกภาคต่างมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ซึ่งล่าสุด คุณ Bénédicte Épinay ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Comité Colbert ได้เดินทางมาเยี่ยมชมพัฒนาการของพวกเราทุกคนที่ได้รับจากพระกรุณาคุณ ซึ่งท่านได้ชื่นชมในพระอัจฉริยภาพ พร้อมทั้งมอบแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมแก่พวกเรา 2 เรื่อง คือ 1. Sustainable Fashion ต้องอยู่คู่กับโลกและสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้วัสดุธรรมชาติ เพราะเป็นเทรนของโลก และชื่นชมว่าสิ่งที่พระองค์ทรงยุยงพวกเราได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งในปีนี้ เราจะได้ไปจัดแสดงผืนผ้าและผลิตภัณฑ์แห่งความยั่งยืนที่สำนักงานใหญ่ UN ณ นครนิวยอร์ค เพื่อให้คนทั้งโลกได้ชื่นชมพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาชาญ รวมถึงความสามารถของคนไทยที่สามารถก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านเครื่องแต่งกาย และ 2. เรื่อง "คุณภาพและราคา" เพราะไม่ว่าผ้าจะถูกหรือแพงอยู่ที่คุณภาพ งาน craft งานฝีมือไม่เหมือนกัน แต่ทุกชิ้นต้องยึดอยู่ที่คุณภาพ แล้วเราจะประสบความสำเร็จที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง