นายวิษณุ ทับเที่ยง รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) รักษาการอธิบดี กพร. เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 2561 ว่า ในปีนี้ กพร. ได้ปรับแผนดำเนินงานให้สอดคล้องกับภาระกิจหลักของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยจะเน้นในเรื่องของการจัดหาวัตถุดิบสำหรับภาคอุตสาหกรรม และรองรับอุตสาหกรรม 4.0
ในส่วนของการจัดหาวัตถุดิบให้กับภาคอุตสาหกรรมนั้นจะต้องวางแผนเพื่อจัดเตรียมวัตถุดิบสินแร่ต่างๆให้เพียงพอกับภาคอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมเดิม และอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล รวมทั้งจัดหาวัตถุดิบก่อสร้างรองรับโครงการเมกะโปรเจคต์ของรัฐบาล
ทั้งนี้ เพื่อรองรับแผนงานดังกล่าว กพร. ได้ปรับโครงสร้างกรม โดยได้ตั้งกองใหม่ 2 กอง ได้แก่ กองบริหารจัดหาวัตถุดิบ และกองรองรับนวัตกรรมวัตถุดิบ โดยกองบริหารจัดการวัตถุดิบ จะมีหน้าที่จัดหาแหล่งแร่ใหม่ๆทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ในส่วนของการจัดหาแหล่งแร่ภายในประเทศมุ่งเน้นในเรื่องแหล่งหินในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เพื่อรองรับโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจคต์ของรัฐบาล เช่น รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะในแนวเส้นทางภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะจัดหาแหล่งแร่หินตามเส้นทางรถไฟวิ่งผ่าน ซึ่งขณะนี้จะมีเหมืองหินใหม่ๆรอบรับโดยไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการรีไซเคิลแร่จากกากอุตสาหกรรมแล้วนำกลับมาใข้ใหม่ หรือโครงการแหล่งแร่ในเมือง โดยได้ตั้งศูนย์วิจัยการรีไซเคิลแร่จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ มีระยะการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2560-2662 ใช้งบประมาณ 93 ล้านบาท โดยในปัจจุบันการรีไซเคิลแร่จะมีมูลค่าประมาณ 150 ล้านบาท จากผู้ประกอบการ 20-30 ราย หากศูนย์ฯนี้สร้างเสร็จก็จะช่วยเพิ่มมูลค่า และจำนวนผู้ประกอบการได้อีกมาก
ในส่วนของการดำเนินงานบริหารจัดการเหมืองแร่ตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนส.ค.ที่ผ่านมา เหมืองแร่ที่อยู่ระหว่างการขอประทานบัตรในจังหวัดมีประมาณ 100 แห่ง ได้จัดทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นของชุมชน และเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดตามกฎหมายใหม่ ซึ่งจะทะยอยพิจารณาออกใบประทานบัตรต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งกองทุนขึ้นมา 3 กอง ได้แก่ 1.กองทุนฟื้นฟูพื้นที่หลังการทำเหมือง ซึ่งจะจัดเก็บทุกปีตามการประเมินตามแผน อีไอเอ ที่ได้จัดทำก่อนการทำเหมือง 2. กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ 3. กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน จะเก็บในอัตรา 50 สตางค์ต่อตัน มีอัตราไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาทต่อเหมือง เพื่อนำมาดูแลรักษาสุขภาพของชุมชนรอบเหมือง และกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน เก็บอัตรา 1 บาทต่อตัน ซึ่งจะนำเงินส่วนนี้มาพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองตามความต้องการของชุมชน ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการหมู่บ้าน
“ขณะนี้มีเงินสะสมเข้ากองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ และกองทุนพัฒนาหมู่บ้านทั้งประเทศมากกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จะทำให้ขาวบ้านรอบเหมืองได้รับประโยชน์จากการทำกิจการเหมืองโดยตรง ทำให้เกิดเการประสานการทำงานระหว่างชุมชนกับเหมืองอย่างใกล้ชิด และช่วยลดแรงต่อต้นในการประกอบกิจการเหมืองได้มาก”
นอกจากนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า กพร. ได้ปรับปรุงกระบวนการทำงานตาม พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ โดยได้กระจายอำนาจการอนุญาตสำรวจ และออกประทานบัตรแร่ จากเดิมอยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มาเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด และอธิบดีกพร. โดยเหมืองขนาดเล็กจะให้อำนาจผู้ว่าราชการจังอวัดออกใบอนุญาตสำรวยและแอกประทานบัตรแร่ เหมืองขนาดกลางและใหญ่เป็นอำนาจของอธิบดีออกใบอนุญาตสำรวจและออกประทานบัตรแร่
สำหรับการลดขั้นตอนดังกล่าวทำให้ลดเวลาการออกประทานบัตรจากเดิมที่ใช้เวลากว่า 2 ปี เหลือไม่เกิน 180 วัน ทำให้ลดจำนวนเหมืองแร่เถื่อนลงได้เกือบหมด เนื่องจากในอดีตใช้เวลาขอประทานกว่า 2 ปี ไม่ทันต่อความต้องการแร่ของตลาดจึงเกิดเหมืองเถื่อนขึ้น รวมทั้งตามกฎหมายแร่ใหม่ยังได้เพิ่มโทษจากเดิมมีแค่โทษปรับ ซึ่งได้เพิ่มโทษจำคุก จึงทำให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่มีความระมัดระวังมากขึ้นไม่ให้ผิดเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม หรือบักลอบทำเหมืองเถื่อน