นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันอังคารที่ 23 มกราคม 2561 ได้เชิญผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ไทย และสมาคม สมาพันธ์ที่เกี่ยวข้อง มาหารือร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรวมตัวกันเพื่อให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์กับระบบอีคอมเมิร์ซ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของ SMEs พร้อมทั้งเสนอให้มีการรวมตัวของผู้ประกอบการโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงสินค้า OTOP และสินค้าเกษตร เข้าสู่ร้านธงฟ้าประชารัฐระดับพื้นที่ให้เป็นไปโดยสะดวกรวดเร็ว โดยอาจพิจารณาค่าขนส่งอัตราพิเศษเข้าสู่ร้านประชารัฐที่ขณะนี้ มีจำนวน 20,000 แห่ง สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการเชื่อมโยงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยและ SMEs ที่ทำการค้าผ่าน e-Commerceก็คือ ช่วยลดต้นทุนการขนส่ง มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ รวมทั้ง เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนส่งไทยปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจโลจิสติกส์รองรับยุคดิจิทัลให้มากขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นจากผู้ประกอบการจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ ภาคเอกชนต่างเห็นพ้องกับกระทรวงพาณิชย์ว่า ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับการให้บริการให้ตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคในโลกยุคดิจิทัล ที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์และให้ความสำคัญกับความรวดเร็วในการขนส่งเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันผู้ให้บริการขนส่งรองรับการค้าออนไลน์อย่างครบวงจรในประเทศมีเพียงไม่กี่ราย และส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ โดยภาคเอกชนมีความเห็นว่า บริษัทขนส่งไทยมีศักยภาพที่จะให้บริการในต้นทุนที่ถูกกว่า และมีจุดแข็งหลายประการที่เปรียบเทียบกับบริษัทต่างชาติ อาทิ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะจังหวัดหรือเฉพาะภูมิภาค มีเครือข่ายที่มากกว่า สามารถส่งสินค้าได้หลากหลาย รวมทั้งสินค้าเกษตรหรือสินค้าอื่นที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์พิเศษ แต่มีจุดอ่อน คือ การขาดระบบและซอฟต์แวร์ที่จะบริหารจัดการระบบการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขาดการร่วมกันเป็นเครือข่าย ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้เสนอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการด้านต่างๆ ดังนี้ 1. การบูรณาการด้านข้อมูลระหว่างผู้ใช้ (Users) และผู้ให้บริการ เพื่อสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการข้อมูลแบบเบ็ดเสร็จ 2. การมีโครงสร้างราคาและต้นทุนการขนส่งสินค้าที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ 3. การจัดทำ Platform กลางที่เป็นมาตรฐาน เพื่อเชื่อมโยงองค์ประกอบการสำคัญในการทำการค้าออนไลน์ทั้ง 3 ด้านคือ e-Marketplace e-Payment และ e-Logistics โดยสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทยยินดีรับหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักในส่วน e-Logistics และขอให้ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน
ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวเพิ่มเติมว่า หากภาคเอกชนผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยสามารถ บูรณาการการบริการ พัฒนาระบบที่ดี ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย กระทรวงพาณิชย์ก็จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการ SMEs ไทยได้ ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. การผลักดันมาตรฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ไทย 2. การสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ผู้บริโภคและ SMEs ที่ต้องใช้บริการ 3. การพัฒนาศักยภาพ SMEs ที่จะใช้บริการขนส่งแบบ e-Logistics และ 4. การส่งเสริมบริการขนส่งไทยให้เป็นที่ยอมรับ แข่งขันกับต่างชาติได้
นอกจากนั้น ปลัดกระทรวงพาณิชย์ยังเสนอให้ภาคเอกชนที่ให้บริการด้านโลจิสติกส์และสมาคมที่เกี่ยวข้อง จัดการหารือเพื่อเสนอแนวทางความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐเกี่ยวกับการเชื่อมโยงการให้บริการด้านโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการขยายตัวของการค้า e-Commerce ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยอาจพิจารณาเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ start up ไทยที่ให้บริการ software ด้าน logistics ซึ่งจะส่งผลให้การค้าและการขนส่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถวางแผนเส้นทางให้เกิดประโยชน์สูงสุดและช่วยลดต้นทุนได้อย่างมาก พร้อมมอบหมายให้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมหารือและติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด